xs
xsm
sm
md
lg

ไล่บี้สถานศึกษาคืนเงินคงค้าง กยศ.ขู่แก้หลักเกณฑ์เพิ่มระงับโอนเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อึ้ง! สถานศึกษาไม่ยอมคืนเงินคงค้าง กยศ. พบบางแห่งยอดค้างสูงถึง 7 ล้านบาท มติคณะอนุกรรมการติดตามฯ ชงแก้หลักเกณฑ์เพิ่มข้อความระงับการโอนเงิน ให้สถานศึกษา โดยยังคงเกณฑ์การปรับ 15% ของวงเงินไว้ หวังบีบให้คืนเงิน กยศ. ชี้ถึงเวลาต้องไล่บี้สถานศึกษาเหมือนที่ทำกับ นศ. บ้างแล้ว

วันนี้ (18 มิ.ย.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินงานติดตามผลการคืนเงินคงค้างจากสถานศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานภาพรวมการคืนเงินคงค้างของสถานศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550-2556 ทั้งในส่วนของกองทุน กยศ. และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) พบว่าที่ผ่านมาสถานศึกษาจำนวนมากไม่ยอมส่งเงินคงค้าง หรือเงินที่ กยศ. โอนให้สถานศึกษา เพื่อจ่ายเป็นเล่าเรียนให้ผู้กู้ ซึ่งปกติเมื่อหักค่าเล่าเรียนของผู้กู้เรียบร้อยแล้ว มักจะมีเงินส่วนต่างคงค้างที่เหลือ ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้วสถานศึกษาต้องส่งเงินคงค้างก้อนดังกล่าวคืนกลับมาให้กับ กยศ. แต่ปรากฎว่ามีสถานศึกษาหลายแห่งไม่คืนเงินคงค้าง หรือคืนแค่บางปีการศึกษา จนทำให้มียอดเงินคงค้างที่สถานศึกษาเหลือจำนวนมากโดยบางแห่งมียอดค้างถึง 7 ล้านบาท ดังนั้น ที่ประชุมจึงหารือเพื่อหาทางแก้ไขเรื่องดังกล่าวและเห็นร่วมกันว่า ควรจะเสนอให้ปรับแก้หลักเกณฑ์ ว่าด้วยวิธีการกู้ยืมเงิน ซึ่งเดิมกำหนดรายละเอียดไว้เพียงว่า หากสถานไม่ส่งคืนเงินคงค้างที่ไม่ได้ใช้ตามสัญญาให้ กยศ. จะต้องเสียดอกเบี้ย 15% ของจำนวนเงินทั้งหมด แต่ปรับแก้ไขเพิ่มว่า หากสถานศึกษาไม่ส่งคืนเงินคงค้างที่ไม่ได้ใช้ตามสัญญา กยศ. จะระงับการโอนเงินให้สถานศึกษานั้น ๆ จนกว่าจะได้รับเงินคืน รวมถึงจะคิดดอกเบี้ย 15%

สาเหตุที่ต้องปรับหลักเกณฑ์การคืนเงินคงค้างครั้งนี้ และกำหนดว่าระงับการโอนเงิน เพราะต้องการกดดันให้สถานศึกษา คืนเงินคงค้างให้ กยศ. ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะเท่าที่ดูตัวเลขเงินที่ค้างก็ไม่ใช่จำนวนน้อย และแม้ว่า กยศ. จะวางหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่าถ้าไม่คืนเงินก็จะมีเบี้ยปรับ แต่ก็ไม่ได้ผล ดังนั้น จึงต้องปรับหลักเกณฑ์ให้เข้มเพื่อให้สถานศึกษามีวินัยในการคืนเงิน กยศ. มากขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษาด้วย เพราะที่ผ่านมา กยศ. จะเพ่งเล็ง ตามทวงเงินแต่กับนักศึกษา แต่ไม่เคยตามทวงกับสถานศึกษาเลย” นางสุทธศรี กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน ตนขอให้คณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 และ 2 ไปปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้กู้ เพื่อให้สามารถปล่อยกู้ให้เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ คือมีฐานะยากจนและมีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยไม่เกิน 200,000 แสนบาทต่อปี
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น