xs
xsm
sm
md
lg

เตือนป่วยลมชักห้ามขับรถ! ต้องกินยาควบคุม ไม่ฟัน ผอ.ร.ร.เพิ่งป่วยหรือกำเริบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์สาขาประสาทฯ ชี้ โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมอง ไม่ฟันธงกรณี ผอ.ร.ร.วังน้ำขาวฯ รู้ตัวว่าป่วยมาก่อนหรือไม่ ระบุหากรู้ตัวว่าป่วย แต่ไม่กินยาควบคุม ถือว่าเป็นความประมาท เตือนคนเป็นโรคลมชักห้ามขับรถ เสี่ยงอันตรายทั้งคนขับและผู้อื่น แต่ยังไร้กฎหมายควบคุม
สภาพรถนายบัวลำ โง๊ะบุดดา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังน้ำขาวชนูปถัมภ์ ที่เกิดอาการลมชักจนรถพุ่งชน มีนักเรียนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 7 ราย
นพ.สมชาย โตวณะบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิอายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา ในฐานะนายกสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณี นายบัวลำ โง๊ะบุดดา ผอ.ร.ร.วังน้ำขาวชินูปถัมภ์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เกิดอาการลมชักขณะขับรถ จนพุ่งชนนักเรียนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 7 ราย ว่า โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองบริเวณผิวสมอง ซึ่งจะปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งสมองจะมีส่วนของการมองเห็น การได้ยิน การควบคุมกล้ามเนื้อและความรู้สึก ทั้งนี้ หากเซลล์สมองเกิดความผิดปกติบริเวณส่วนของการควบคุมกล้ามเนื้อ ก็จะเกิดอาการเหมือนถูกไฟฟ้าช็อต เกร็ง และกระตุก ซึ่งคาดว่ารายนี้ก็น่าจะเกิดจากส่วนนี้

นพ.สมชาย กล่าวอีกว่า โรคลมชักสามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นทีหลัง ซึ่งคนที่เป็นแล้วจะต้องรักษาด้วยการกินยา อย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อไปหยุดเซลล์ที่ผิดปกติไม่ให้ปล่อยกระแสไฟฟ้า โดยต้องกินยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง เพราะมิเช่นนั้นแล้วอาจเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ ซึ่งบางรายจะไม่รู้ตัวว่าอาการจะกำเริบเมื่อไร แต่บางรายอาจมีสัญญาณเตือนให้รู้ตัว สำหรับรายของ ผอ.ร.ร.วังน้ำขาว คาดว่า อาจเกิดจากอาการชักขึ้นมา ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า ผอ.ร.ร.วังน้ำขาว รู้ตัวมาก่อนหรือไม่ว่าป่วยโรคลมชัก ซึ่งต้องสอบถามจากเจ้าตัว รวมถึงให้แพทย์ที่ทำการรักษาอยู่เป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยรู้ตัวมาก่อนหรือไม่ ซึ่งหากรู้ตัวว่าป่วยแล้วไม่กินยาอย่างต่อเนื่องถือว่าเป็นความประมาท แต่ถ้าไม่รู้ตัวมาก่อนว่าป่วยก็ถือว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นอุบัติเหตุ

การรักษาผู้ป่วยโรคลมชักจะแนะนำทุกครั้งว่าไม่ควรขับรถ เพราะหากอาการกำเริบขึ้นมา ไม่เพียงตัวเองที่จะบาดเจ็บ ยังอาจเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตผู้อื่นเช่นกรณีนี้ด้วย ที่น่าห่วงคือประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามคนเป็นโรคลมชักขับรถ หากเป็นยุโรปหรือ สหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามขับรถ เว้นแต่มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าผู้ป่วยมีการกินยาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยเกิดอาการชักอย่างต่ำ 6 เดือน - 1 ปี จึงจะสามารถขับรถได้” นพ.สมชาย กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น