xs
xsm
sm
md
lg

เตือนคอบอลไปบราซิลระวังติดโรค “ไข้เหลือง” อาจถึงตาย แนะฉีดวัคซีน 10 วันก่อนเดินทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนคอบอลเตรียมเหินฟ้าไปเชียร์บอลโลกบราซิล ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน “โรคไข้เหลือง” 10 วันก่อนเดินทาง ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เหตุเสี่ยงถูกยุงลายกัด ได้รับเชื้อโรคไข้เหลือง ร้ายแรงอาจถึงชีวิต

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 จะมีคนไทยบางส่วนที่เดินทางไปชมถึงสนามแข่งขันที่บราซิล คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500 คน ซึ่งมีความน่าเป็นห่วง เพราะบราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และอยู่ในเขตร้อนชื้น จึงมีโรคคล้ายกับไทย ที่แตกต่างคือไข้เหลือง และโรคจากแมลงประเภทตัวมวน หรือที่เรียกว่า โรคชากา (Chaga disease) เป็นโรคประจำถิ่น ไม่มีในไทย จึงขอผู้ที่เดินทางไปชมการแข่งขันเตรียมตัวให้พร้อม รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองตามกฎหมายระหว่างประเทศก่อนเดินทาง โดยฉีดได้ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี ส่วนผู้ที่ชมและเชียร์ในประเทศไทยต้องรู้จักวางแผนการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่หักโหมต่อเนื่องหลายคืน โดยเฉพาะยิ่งเชียร์ฟุตบอลพร้อมกับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมขบเคี้ยว หรือขนมหวาน จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สภาพอากาศบราซิลคล้ายไทย โรคติดต่อก็คล้ายคลึง แต่โรคที่ไม่พบในไทยคือ ไข้เหลือง และโรคชากา ซึ่งโรคชากาเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว มีตัวมวนเป็นพาหะ โดยตัวมวนจะอาศัยอยู่ตามผนังและหลังคาบ้านในชนบท ที่ทำจากโคลนหรืออิฐที่ตากแห้งแล้วเผาไฟ หรือมุงด้วยใบจาก ตัวมวนจะกัดคนและปล่อยอุจจาระไว้บริเวณที่กัด เมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังถลอก เชื้อจะไชเข้าทางแผล อาการป่วยโรคนี้คือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันโรคนี้ไม่พบในเขตเมือง และเป็นโรคที่ไม่ติดต่อกันง่าย แต่ขอให้ระวังอย่าให้แมลงกัด

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับโรคไข้เหลือง เกิดจากเชื้อไวรัส มียุงลายเป็นพาหะ สามารถติดเชื้อได้ทั้งในเขตเมืองและป่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะหลัง และปวดศีรษะ อาจมีอาการตัว ตา เหลือง ไตวาย มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ และเสียชีวิตได้ แต่มีวัคซีนป้องกัน เน้นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ และลดปวด ควรให้ยากลุ่มพาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพริน หรือ ยาไอบูโปรเฟน เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในระบบต่างๆ ของร่างกายได้ง่าย

การฉีดวัคซีนไข้เหลืองควรฉีดก่อนออกเดินทาง 10 วัน ทั้งนี้ ให้ภูมิคุ้มกันโรคได้นาน 10 ปี และอาจอยู่ได้ถึงตลอดชีวิต ร้อยละ 95 ของผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคภายใน 1 สัปดาห์ ผลข้างเคียงของวัคซีนพบน้อยมาก ส่วนการป้องกันโรคระหว่างอยู่ที่บราซิล ขอให้ระมัดระวังเรื่องการบริโภคอาหารและน้ำ ควรเลือกดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่บรรจุสนิทแน่นจากโรงงานผลิต เลือกกินอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ สะอาด ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงการใช้ของร่วมกัน สวมใส่เสื้อผ้าที่ปิดร่างกายมิดชิด หรือทาสารป้องกันแมลงกัด นอนในมุ้ง หากไปท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบท” อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น