xs
xsm
sm
md
lg

ชี้กระจายคิวผ่าไส้ติ่งลง รพช. เป็นเรื่องดี แต่แก้ได้ไม่ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ (ภาพ www.hfocus.org)
ผอ.รพ.พรานกระต่าย ชี้ กระจายคิวผ่าตัดไส้ติ่งลง รพช. เป็นนโยบายที่ดี แต่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เหตุแพทย์ รพช. สามารถทำการผ่าตัดได้ แต่ไม่มีความมั่นใจ จี้ สธ. เร่งสร้างความเชื่อมั่น ด้านรองปลัด สธ. เน้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รพ. ใหญ่เป็นพี่เลี้ยง

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการลดการรอคิวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบนั้น ด้วยการให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รับเคสนั้น ถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะเดิมที รพช. ก็เคยทำมาก่อน แต่ปัญหาคือแพทย์ไม่มีความมั่นใจ รวมถึงประชาชนไม่เชื่อมั่นด้วย เนื่องจากเคยเกิดการผ่าตัดผู้ป่วยไส้ติ่งเสียชีวิตที่ รพ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งที่อาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการดมยา หรือจากปัจจัยอื่น กลายเป็นว่าเมื่อมีเคสผ่าตัดไส้ติ่ง จะส่งต่อไปยัง รพศ. รพท. กันหมด

สธ. มอบนโยบายลงมา แต่ไม่มีการถามผู้ปฏิบัติอย่างแพทย์ใน รพช. ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาเป็นโจทย์ที่ สธ. ต้องเล็งเห็นความสำคัญ อย่างกรณีให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใน รพ. ขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงให้แพทย์ใน รพช. ก็ถือว่าดี แต่ส่วนใหญ่จะมาเป็นพี่เลี้ยงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทำการผ่าตัดในเคสไม่เร่งด่วน เช่น ริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อน แต่ผ่าตัดไส้ติ่ง ส่วนใหญ่มาเลย หากรอก็เสี่ยงไส้ติ่งทะลุ เรื่องนี้อยากให้นำร่องใน รพช. บางแห่งก่อนขยายทั่วประเทศ จากนั้นจึงค่อยประเมินความพอใจในประชาชน และการทำงานต่างๆ เป็นต้น” นพ.บัลลังก์ กล่าว

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า หากแพทย์ไม่มั่นใจในการทำงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนขาดความเชื่อมั่นไปด้วย ซึ่งการสร้างความมั่นใจให้บุคลากรนั้น สธ.มีแผนในการทำงานเป็นขั้นตอน คือ การสร้างเครือข่าย รพช. ขนาดใหญ่ให้มีความพร้อม ด้วยการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา เริ่มต้นลงพื้นที่ไป รพช. เพื่อช่วยการผ่าตัด จากนั้นเมื่อแพทย์ใน รพช. มีความพร้อม ทางแพทย์พี่เลี้ยงก็จะกลายเป็นที่ปรึกษา คอยให้ข้อมูล แนะนำผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลรายงานสถานการณืปัญหาไส้ติ่งอักเสบ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบุว่าอัตราการป่วยตายจากโรคไส้ติ่งอักเสบพุ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2548 พบร้อยละ 0.16 ในผู้ป่วยโรคไส้ติ่ง 100 คน กระทั่งปี 2555 ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.15 และปี 2556 เพิ่มถึงร้อยละ 0.22 ส่วนอัตราการรอคิวนานจนเกิดไส้ติ่งทะลุในผู้ป่วย 100 คนนั้น พบว่า อัตราเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2548 อยู่ร้อยละ 19.81 ปี 2555 ร้อยละ 21.44 และปี 2556 เพิ่มถึงร้อยละ 34.81 เป็นต้น
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น