xs
xsm
sm
md
lg

ก.จับกังตั้งทีมทวงหนี้นายจ้าง 2 พันล.บาท ค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงานติดตามเงินสมทบนายจ้างค้างจ่ายได้กว่า 2 พันล้าน จากยอดเดิม 4 พันล้าน ระดมความเห็นปรับสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน เล็งเพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ยันการรักษาพยาบาลเป็นแบบเฉลี่ยร่วม ดึงเงินร่วมจ่ายให้ผู้ป่วยหนัก ไม่มีเพิ่มสิทธิอื่นกรณีไม่เคยรับการรักษา

วันนี้ (27 พ.ค.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสำนักงานประกันสังคม ประจำปี 2557 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน ให้ก้าวสู่การเป็นประกันสังคมถ้วนหน้า รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกันตน และนายจ้างนำส่งเงินสมทบตามที่กำหนด โดยลูกจ้างจะได้รับสิทธิการคุ้มครองในหลายกรณี เช่น การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับสิทธิ 7 กรณี ทั้งเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน เสียชีวิต และชราภาพ ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนหรือนายจ้างขาดส่งเงินสมทบเกิน 3 เดือนติดต่อกันจะทำให้ขาดสิทธิในหลายกรณี

ในปี 2555 มีนายจ้างขาดส่งเงินสมทบ รวมเป็นวงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท โดยระหว่างปี 2555-2556 ได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจในการติดตามทวงหนี้ ซึ่งสามารถติดตามได้กว่า 2,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมีนายจ้างค้างชำระรวมกว่า 3 หมื่นราย รวมวงเงินกว่า 3 พันล้านบาท ในปีนี้ สปส. ได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลในการจ่ายเงินสมทบของปี 2558 กว่า 38,100 ล้านบาท โดยหากรวมปี 58 รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมกว่า 111,944.5 ล้านบาท” นายจีรศักดิ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปส. มีแนวคิดที่จะปรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เทียบเท่ากับมาตรา 39 เพื่อให้รับสิทธิที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะนำผู้ประกันตนที่พ้นสภาพหลายหมื่นคน กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้งเนื่องจากขาดความรู้เรื่องจ่ายเงินสมทบทำให้ค้างจ่ายเกิดเวลาที่กำหนดไว้จนหลุดออกจากระบบ

ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนเรียกร้อง เรื่องการไม่ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาล สปส.ควรเพิ่มสิทธิอื่นๆทดแทนหรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เนื่องจากระบบของ สปส. ในเรื่องการรักษาพยาบาล เป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เพราะบางรายรักษาเกินวงเงินที่กำหนด จึงต้องนำค่าหัวของผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิไปชดเชย ส่วนการจ่ายยาที่ร้องเรียนว่าขาดมาตรฐานเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการแพทย์ที่ต้องไปตรวจสอบ หากพบทำไม่ได้มาตรฐานจะลดศักยภาพของโรงพยาบาลให้ผู้ประกันตนลดลงและตัดการเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาในที่สุด

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับสถานประกอบการดีเด่นที่มีความรับผิดชอบในการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตรงต่อเวลาจำนวน 10 ปีติดต่อกัน โดยไม่เคยมีเรื่องร้องเรียน และให้ความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคมในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ รวม 72 แห่งทั่วประเทศ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น