xs
xsm
sm
md
lg

พิษการเมือง! จับตาอุตสาหกรรมหลักจ่อเลิกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาอุตสาหกรรมหลัก ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/สิ่งทอ/ยานยนต์ เลิกจ้างแรงงาน เหตุการเมืองวุ่นไม่จบ เศรษฐกิจชะลอตัว ยอดสั่งสินค้าลดฮวบ กสร. เผยศาลแรงงานพิพากษาให้ลูกจ้างซับคอนแทรคได้รับสิทธิประโยชน์-สวัสดิการเท่ากับลูกจ้างประจำ ชี้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มร้อยละ 10 แนะสถานประกอบการเลิกจ้างทางออกสุดท้าย

วันนี้ (18 พ.ค.) นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีหน่วยงานรัฐและเอกชนออกมาคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีติดลบ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจชะลอตัวว่า ขณะนี้ กสร. ได้สั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดต่างๆ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างในพื้นที่อย่างใกล้ดชิดโดยเฉพาะใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งยานยนต์และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากยอดการสั่งสินค้าลดลงและต่างชาติชะลอการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

รองอธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้แรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) 2 บริษัท คือ บ.เอฟซีซี ไทยแลนด์ จำกัด บ.ทิตาราม เอาท์ซอตซิ่งเซอร์วิส ได้รับสิทธิประโยชน์โบนัส สวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้กำลังแรงงานเป็นหลักมีภาระต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังมีปัญหาอย่างมาก ขณะนี้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างกำลังหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ในเวลานี้

นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การดำเนินการธุรกิจของอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เติบโตเช่นที่ผ่านมา หากสถานประกอบการใดที่ธุรกิจมีปัญหาก็ขอให้การเลิกจ้างแรงงานเป็นทางออกสุดท้าย เมื่อสถานประกอบการตัดโอทีลูกจ้างแล้วก็ไม่ควรจะตัดสวัสดิการต่างๆอีกเพราะการที่ไม่ได้ทำโอทีทำให้รายได้ส่วนหนึ่งของลูกจ้างหายไป แต่ถ้าจำเป็นต้องตัดสวัสดิการก็ต้องพูดคุยทำความตกลงกับลูกจ้างก่อน หากตัดกะทันหันจะเกิดข้อพิพาทระหว่างกันขึ้นได้ และถึงที่สุดแล้วจริงๆ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย

“เวลานี้ กสร. ได้ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบว่าสถานประกอบการใดที่มีปัญหาก็จะเข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำและเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เชื่อว่าก็คงเป็นภาวะวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ เมื่อผ่านพ้นไปแล้วทุกอย่างก็คงดีขึ้นแต่ขณะนี้อยากให้นายจ้างกับลูกจ้างพูดคุยกันและร่วมมือกันเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่รอดได้” นายสุวิทย์ กล่าว
 



กำลังโหลดความคิดเห็น