สคอ. หนุนอบรมขับรถและข้อกฎหมาย 12 ชั่วโมงก่อนสอบใบขับขี่ ชี้ช่วยลดอุบัติเหตุได้ แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดด้วย คาดดำเนินการทุกอย่างจริงจังจะลดอุบัติเหตุได้ครึ่งหนึ่งใน 2 ปี
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวถึงกรณีกรมการขนส่งทางบกจะเริ่มใช้มาตรการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการขับรถและข้อกฎหมายต่างๆ ให้กับผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามมาตรฐานที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ จากนั้นค่อยนำผลรับรองการอบรมมายื่นขอรับการทดสอบใบขับขี่ หากทดสอบผ่านจะได้รับใบอนุญาตทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาอบรมอีก 4 ชั่วโมง โดยการสอบข้อเขียนจะต้องสอบผ่านถึง 90% ถึงจะได้ใบขับขี่ ว่า ปัญหาอุบัติเหตุที่ผ่านมา เมื่อมีการสอบสวนวิเคราะห์แล้ว พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นสาเหตุมาจากคนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดทักษะในการใช้รถใช้ถนนไม่มีความรู้ และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยจราจร โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากถึง 13,000 รายต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 2 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 230,000 บาทต่อปี ดังนั้น จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่กรมขนส่งทางบกจะใช้มาตรการให้ผู้สอบขอรับใบขับขี่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเป็นการอบรม 12 ชั่วโมง
“ที่ผ่านมาการอบรมของประเทศไทยมีน้อยมาก ซึ่งในเบื้องต้นมองว่า จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้บ้าง การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องมีเข้มความสอดคล้องกันด้วย รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ประชาชนรู้สึกว่า การที่จะได้รับใบขับขี่นั้นเป็นเรื่องที่ยาก ต้องหวงแหนและรักษาให้ดีเหมือนบัตรอื่นๆ ส่วนการสอบข้อเขียนที่ต้องผ่านถึง 90% นั้น ในหลักสากลแล้วจะผิดไม่ได้เลยสักข้อเดียว สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่มากเกินไป เพราะการสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งใบขับขี่ เป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะในความเป็นจริงหากอยู่บนถนนแล้ว ความปลอดภัยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราเองด้วย ตัดสินใจผิดครั้งเดียวอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งผมเชื่อว่าหากดำเนินการได้ครบทุกภาคส่วนและดำเนินการอย่างจิรงจังจะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้ลงถึงร้อยละ 50 ได้ภายใน 2 ปี” ผอ.สคอ. กล่าว
นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับในอาเซียนประเทศที่ขึ้นชื่อว่าการสอบขับขี่ได้ยากที่สุด คือ ประเทศมาเลเซีย ที่จะมีการอบรมและผ่านการทำข้อสอบแต่ละหมวดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรืออย่างประเทศพม่า ซึ่งในใบขับขี่จะถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ใช้กับรถอะไร วิ่งได้ที่รัฐไหนบ้าง เป็นต้น ภาคเอกชนควรให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่พนักงานที่จะไปทำใบขับขี่ ส่วนภาครัฐในฐานะเจ้าพนักงานจะต้องมีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ซึ่งในอนาคตผู้ที่กระทำผิดกฎจราจรจะมีการลงบันทึกข้อมูลและส่งให้กับกรมการขนส่งทางบก หากพบผิดในข้อหาซ้ำอาจมีการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม คาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ประมาณปลายปีหรือต้นปีหน้า