xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชัดให้เครื่องตรวจน้ำตาลผู้ป่วยเบาหวาน “คุ้มค่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
HITAP เผยผลวิจัยชี้ชัด ให้เครื่องตรวจน้ำตาลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือผลิตอินซูลินไม่ได้ตั้งแต่เด็ก มีความคุ้มค่า ลดโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น เตรียมยื่น สปสช. เคาะ

ภญ.ปรียานุช ดีบุกคำ ผู้ช่วยวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) กล่าวถึง งานวิจัยเรื่อง “การให้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองแก่ผู้ป่วยเบาหวาน คุ้มหรือไม่” ว่า เบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่น่าห่วงคือ มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2554 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 285 ล้านคน คาดว่า อีก 20 ปี จะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็น 439 ล้านคนทั่วโลก โดยอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยในประเทศยากจนและกำลังพัฒนามากกว่าประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 3 เท่า การศึกษาในครั้งนี้ จึงทำเพื่อประเมินต้นทุนของการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองร่วมกับการดูแลรักษาขั้นพื้นฐานในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ในประเทศไทย และนำเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ภญ.ปรียานุช กล่าวว่า โรคเบาหวาน แบ่งเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 คือ เกิดจากความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่เด็กที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ และเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจนทำให้ร่างกายมีการผลิตอินซูลินที่ผิดปกติไปจนถึงไม่สามารถผลิตได้เลย ซึ่งการศึกษาทำเพื่อหาความคุ้มค่าในการแจกเครื่องตรวจวัดน้ำตาลร่วมกับการรักษา พบว่า การให้เครื่องตรวจน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มีความคุ้มค่ามากกว่า โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 346,316 บาท ตลอดชีวิตผู้ป่วย 1 ราย และทำให้มีปีสุขภาวะดีเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการให้เครื่องตรวจในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เฉพาะที่ต้องให้อินซูลิน พบว่าสัดส่วนต้นทุนสูงถึง 1,014.203 บาทต่อปีสุขภาวะ

“การให้เครื่องตรวจน้ำตาลกับผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ถือว่ามีประโยชน์แต่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ยังถือว่ามีความเห็นที่หลากหลาย เพราะการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มักมาจากพฤติกรรมและมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้หลายอย่าง การประเมินเครื่องตรวจน้ำตาลกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1จึงสามารถช่วยลดโรคแทรกซ้อนที่จะสร้างความทุกข์ทรมาน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไต ประสาท สายตา แผลเรื้อรังที่แขนขา ซึ่งหลายประเทศได้สนับสนุนเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลให้ผู้ป่วย ซึ่งในประเทศไทย เครื่องฯยังไม่ครอบคลุมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ยังต้องรอการพิจารณาต่อไป” ภญ.ปรียานุช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น