xs
xsm
sm
md
lg

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองด้วยอาหารแบบไทยๆ/ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เราเรียกกันว่าสโตรก (Stroke) เป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเพราะในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ที่เป็นสโตรกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากข้อมูลของ American Stroke Association พบว่าในทุกๆ 4 นาที จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปรียบเทียบข้อมูลสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2545-2554) พบว่า มีแนวโน้มการตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 19,283 คน มีแนวโน้มเพิ่มสูงจาก 21.46 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2545 เป็น 30.04 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2554 โดย ผู้ชายจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง 1.4 เท่า
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากความเสียหายของหลอดเลือดภายในสมอง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองถูกปิดกั้นด้วยลิ่มเลือด หรือเกิดจากหลอดเลือดภายในสมองแตก เมื่อเลือดออกจะส่งผลให้ทำให้เนื้อสมองตายและเลือดไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองได้ เมื่อสมองไม่ได้รับเลือดระบบการทำงานก็ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะเกิดผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในส่วนที่สมองส่วนนั้นควบคุมการทำงานอยู่ สมองส่วนใดสูญเสียการทำงาน อวัยวะนั้นก็จะถูกกระทบไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือชา บริเวณหน้า แขน ขา ทำให้การมองเห็น การพูด หรือการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติไปหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ รวมถึงมีผลต่อระบบความคิด ความจำ การตัดสินใจต่างๆด้วย ในกรณีที่มีความรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ในทันที
หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารเป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ การมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนระดับไขมันในเลือดที่สูงกว่าปกติ ความดันโลหิตสูง ความเครียดทำให้รับประทานอาหารในปริมาณเยอะ รวมถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
อาหารไทยที่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
ข้าวกล้องงอกซึ่งมีสารกาบาที่เป็นสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลางมากกว่า มีใยอาหารที่ช่วยลดไขมันในเลือด วิตามินอี ไนอะซิน กรดอะมิโนไลซีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และแมกนีเซียม มีการศึกษาที่ระบุว่าข้าวกล้องงอกสามารถป้องกันการตายของเซลล์ประสาทนอกจากนี้ยังช่วยให้ความจำดีขึ้น
ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วขาว เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน เป็นแหล่งของใยอาหาร และวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินอี ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องเยื่อหุ้มเซลล์สมองจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ ถั่วเหลืองมีไอโซฟลาโวน เป็นสารพฤษเคมี สารนี้สามารถเพิ่มเอ็นไซม์ในสมองส่วนที่ทำหน้าที่ด้านความจำและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหลอดเลือดสมอง
ปลาทู ปลากะพง ปลานิล ปลาสวาย ปลาดุก เป็นแหล่งของโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพดีเอชเอและอีพีเอเป็นกรดไขมันจำเป็นในกลุ่มโอเมกา-3 มีสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของสมองและระบบประสาท ช่วยลดการแข็งตัวของหลอดเลือด
ไข่ เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ราคาไม่แพง ให้พลังงานต่ำ และเป็นแหล่งของของโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ประกอบด้วยสารอาหารที่ดีต่อสมอง เช่น วิตามินบี 2 ซีลีเนียม วิตามินเค และโคลีน ซึ่งโคลีนเป็นสารสื่อประสาทในสมอง หลายคนอาจกังวลถึงคอเลสเตอรอลในไข่อาจทำให้คอเลสเตอรอลสูง แต่จากการศึกษาพบว่าการรับประทานไข่วันละ 1 ฟองไม่ส่งผลโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง กลับกันคือส่งผลดีต่อการลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
สมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น กระเทียม กระชาย ใบบัวบก ขมิ้น ข่า ตะไคร้ ขิง ใบมะกรูด ใบกะเพรา ใบโหระพา ใบสะระแหน่ พริกไทยดำ โดยส่วนใหญ่แล้วในสมุนไพรจะประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนช่วยต่อการลดการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย บำรุงเลือด ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และทำให้หลอดเลือดแข็งแรง
ผัก-ผลไม้ 5 สี (เขียว ขาว เหลือง/ส้ม แดง น้ำเงิน/ม่วง) สารพฤกษเคมีหรือที่เรียกกันว่าไฟโตนิวเทรียนท์ มีมากในผักที่มีสีเข้ม สารนี้จะช่วยกำจัดสารพิษออกนอกร่างกายได้เร็วขึ้น ทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และต้านการอักเสบ
สีแดง เช่น มะเขือเทศสีดา พริก แตงโม มันเทศ ทับทิม เชอรี่ไทย
สีส้ม เช่น มะม่วงสุก ส้ม มะละกอ ขนุน ฟักทอง ข้าวโพด โทงเทงฝรั่ง
สีเขียว เช่น ใบตำลึง คะน้า ผักบุ้ง มะม่วงดิบ มะยม
สีขาว เช่น กระเทียม หัวหอม เห็ด ผักกาดขาว ดอกแค กล้วย ขิง
สีม่วง เช่น มะเขือม่วง ลูกหว้า มะเม่า อัญชัน กะหล่ำปลีม่วง

อ้างอิง
American Stroke Association. Impact of stroke (Stroke statistics)
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์. สถิติสธารณสุข พ.ศ. 2554 (Public Health Statistics A.D. 2011). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2554. 234 p.





กำลังโหลดความคิดเห็น