วธ. ออก 3 มาตรการฟื้นฟูโบราณสถาน-ศาสนาสถาน-เร่งสำรวจ สรุปความเสียหายเพื่อตั้งงบบูรณะ ด้าน พศ. ชงขอ
งบ 49 ล้านบาท ซ่อม 43 วัด ช่วยเหลือพระสงฆ์-สามเณร
นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อ ศาสนสถาน โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บ้านศิลปินแห่งชาติหลายแห่ง ในขณะนี้ตนได้กำหนดแนวทางเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟู เยียวยา วัด โบราณสถาน ศาสนสถานทุกศาสนา ที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ 1. มอบหมายให้ นายอภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัด วธ. และผู้ตรวจราชการ วธ. ลงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน เพื่อสำรวจความเสียหายและจัดทำรายละเอียดเพื่อจัดสรรงบประมาณสำหรับบูรณะ 2. มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ที่ประสบภัยพิบัติสำรวจและรวบรวมความเสียหายของโบราณสถาน ศาสนสถานของทุกศาสนา ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบกลางใช้ซ่อมแซมในภาพรวม 3. มอบให้กรมการศาสนา (ศน.) ประสานเจ้าคณะเขตภาคเหนือและประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนทราบเพื่อร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือวัด ศาสนสถานที่ได้รับความเสียหายตามกำลังศรัทธา ทั้งนี้ ถ้ามีโบราณสถาน หรือศาสนสถานที่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติม ให้ สวจ. รายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ในส่วนของ พศ. ได้รับสรุปความเสียหายและจัดทำแผนการให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์สามเณรและวัดที่ได้รับความเสียหาย โดยแบ่งเป็นจังหวัดเชียงราย 35 วัด จังหวัดเชียงใหม่ 4 วัด จังหวัดพะเยา 2 วัด จังหวัดน่าน 2 วัด รวมทั้งหมด 43 วัด โดยจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อซ่อมแซมและบูรณะวัด รวมถึงช่วยเหลือพระสงฆ์และสามเณร จำนวน 49 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการจัดทำคู่มือให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว รวมถึงจะจัดอบรมถวายความรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติแก่เจ้าอาวาสทั้งหมด 4 รุ่น จำนวน 4,000 รูป