สรุปอุบัติเหตุตาย 322 ราย เซ่น 7 วันอันตรายสงกรานต์ เจ็บ 3,225 ราย ลดอุบัติเหตุลงจากปีก่อนได้แค่คนเดียว สะท้อนการป้องกันยังไร้ผล ด้านโคราชแชมป์ตายสูงสุด “จารุพงศ์” จ้อจะบังคับใช้กฎหมายจริงจังคู่มาตรการสังคม หวังลดตายให้ต่ำกว่า 10 คนต่อแสนประชากรในอีก 6 ปี
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ประจำวันที่ 17 เม.ย. 57 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 238 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 299 คน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,275 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 67,002 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 597,820 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 90,182 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ตรัง และราชบุรี (จังหวัดละ 12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 30 คน
นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ส่วนสรุปรวม 7 วันอันตรายสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11 - 17 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 164 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 322 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 1 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,225 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 185 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 36.76 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.47 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.14 รถปิกอัพ ร้อยละ 11.39 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 21.99
นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.60 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.74 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.83 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 32.95 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.13 ทั้งนี้ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 116 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 14 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 144 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือตายเป็นศูนย์ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เพชรบุรี อ่างทอง พังงา และยะลา อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 664 อำเภอ พื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 44 เขต จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน ได้แก่ อุทัยธานี 2.13 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน สมุทรสงคราม 1.55 คนต่อประชากรหนี่งแสนคน
“ภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง โดยยังมีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยผลักดันกลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว ควบคู่กับการดำเนินมาตรการทางสังคม ด้วยการจัดอาสาสมัครที่จุดตักเตือนประจำชุมชุนหมู่บ้าน เพื่อควบคุมการใช้รถใช้ถนนให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ให้เป็นไปตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554 - 2563 ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี 2563” นายจารุพงศ์ กล่าว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า ปภ. จะได้ประสานให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจัดประชุมบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สรุปปัญหาอุปสรรคจากการทำงานและจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการ แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์แผนงานโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ต่อเนื่องทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ พร้อมรวบรวมส่งให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดเป็นยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ถนนทุกสายของประเทศไทยเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน