เตือนเด็กอ้วน นอนกรน กระทบคุณภาพการนอน เสี่ยงทางเดินหายใจอุดกั้น ทำเด็กโตช้า สมองแย่ เครือข่ายคนไทยไร้พุง-สสส. แนะออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ลดปัญหาระยะยาว
นพ.สุรณัฐ แก้วณิมีย์ ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่อง “เด็กอ้วนนอนกรน” อาการนอนกรน เป็นอาการหนึ่งของภาวะที่เรียกว่า ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหมายถึงการไม่มีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบน หรือหยุดหายใจ ร่วมกับมีภาวะพร่องของระดับออกซิเจนในเลือด มีการนอนที่ผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ ในคนที่สุขภาพแข็งแรงทั่วไปจะพบได้ร้อยละ 3-12 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 1-3 จะมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้น
นพ.สุรณัฐ กล่าวว่า อาการที่เป็นผลสืบเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอ เช่น ตื่นมาปวดศีรษะในตอนเช้า คลื่นไส้หรืออาเจียน ง่วงหลับผิดปกติในเวลากลางวัน อ่อนเพลีย ส่วนเด็กวัยเรียน อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและการเรียนรู้จดจำ เช่น สมาธิสั้น ความจำไม่ดี มีผลการเรียนไม่ดี ในบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคซนอยู่ไม่นิ่งร่วมกับสมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าวและแยกตัวออกจากสังคม เด็กที่ไม่ได้รับการรักษามักมีลักษณะอ้าปากหายใจ เสียงขึ้นจมูก ในรายที่รุนแรงจะส่งผลให้การเจริญเติบโตช้า ซึ่งพบว่าในเด็กอ้วน พ่อแม่มักพามาปรึกษาเรื่องอาการนอนกรนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาการนอนกรนในเด็ก จะสามารถพบได้ทั้งเด็กปกติ และเด็กอ้วน แต่ในเด็กอ้วนจะพบบ่อยกว่าและมีอาการตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง
“เมื่อเด็กนอนกรน หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นระหว่างหลับ จะมีอาการแทรกซ้อนและโรคที่พบร่วมได้คือ การง่วงหลับในเวลากลางวันมากผิดปกติ สมองมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้จดจำ ปัญหาพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และคุณภาพชีวิต และยังเพิ่มความเสี่ยงในอนาคตของโรค เช่น ความดันโลหิตสูง การทำงานของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อผนังหัวใจหนาตัวผิดปกติ ผนังหลอดเลือดแข็งตัวและความยืดหยุ่นลดลง และสุดท้ายยังทำให้เกิดโรคในกลุ่มอาการเมตาบอลิก ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และความดันโลหิตสูง” นพ.สุรณัฐ กล่าว
นพ.สุรณัฐ กล่าวว่า การรักษาที่สำคัญที่สุดคือ การควบคุมและลดน้ำหนัก ร่วมกับการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ หากมีต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือ ต่อมอะดีนอยด์ ร่วมด้วยหรือไม่ ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเวลานอน ทั้งนี้ การควบคุมและลดน้ำหนักที่ปลอดภัยในเด็ก คือ การจัดอาหารและจำกัดพลังงานอย่างเหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การจำกัดพลังงาน ควรได้รับการดูแลโดยนักโภชนาการ หรือกุมารแพทย์ ? และโรคอ้วน ยังปัญหาและมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างมาก ปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้การดูแลรักษาเด็กที่มีโรคอ้วนประสบความสำเร็จคือ การให้ความสำคัญและความร่วมมือของผู้เลี้ยงดูเด็กและครอบครัว และต้องเริ่มตั้งแต่การให้โภชนาการที่เหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์ จึงจะสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคอ้วนลงได้