xs
xsm
sm
md
lg

แนะลูกหลาน ใส่ใจสุขภาพผู้สูงอายุ ช่วงวันหยุด ป้องกันอุบัติเหตุ เสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคห่วงปัญหาการละเลยการผู้สูงอายุช่วงวันหยุดแนะดูแล ป้องกัน พลัดตก หกล้ม ฟกช้ำ หรือรุนแรงจนกระดูกหัก ส่งผลให้พิการและเสียชีวิต

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะผู้สูงอายุส่วนมากนอกจากจะมีความเสื่อมของร่างกายตามวัยแล้ว ยังอาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องการดูแล เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยที่พบเสมอ คือ การบาดเจ็บจากการหกล้ม หรือพลัดตกที่สูง

ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 โดยสำนักโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค พบว่า การบาดเจ็บในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกหกล้ม ทั้งนี้จากการสอบถามประวัติการพลัดตกหกล้มใน 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความชุกร้อยละ 18.5 เป็นเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย (ร้อยละ 21.9 และ 14.4 ตามลำดับ) โดยมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55) หกล้มในตัวบ้านและในบริเวณรั้วบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ เป็นต้น ในขณะที่เพศชายร้อยละ 60 หกล้มบริเวณนอกบ้าน ขณะเดินทาง และในสถานที่ทำงาน เช่น ถนนในซอยและถนนใหญ่ ข้ามสะพาน จักรยาน/มอเตอร์ไซค์ล้ม บนรถเมล์ ไร่ นา ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น สาเหตุของการหกล้มส่วนใหญ่มาจากพื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวาง การเสียการทรงตัว พื้นต่างระดับ หน้ามืดวิงเวียน และสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น ถูกกระแทก ตกบันได เป็นต้น และภายหลังการพลัดตกหกล้มแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการฟกช้ำ รองลงมาคือ มีอาการปวดหลัง และรุนแรงจนกระดูกหัก รวมทั้งเกิดความพิการและเสียชีวิตตามมา

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การป้องกันอุบัติเหตุและการดูแลสุขภาพอนามัยในผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. พาผู้สูงอายุภายในบ้านเข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัว เพื่อนบ้าน เป็นประจำ รวมทั้งเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุในชุมชน 2. ให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย สะอาด ไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน เค็มจัด และรับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ 3. ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย โดยเน้นฝึกการทรงตัว และฝึกทักษะการเคลื่อนไหว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ได้แก่ การเดิน โยคะ ไทเก๊ก รำมวยจีน รำไม้พอง เป็นต้น 4. ดูแลให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันตกในท่ายืน อาจมีอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม ขณะที่ลุกขึ้นนั่งหรือยืนทุกครั้ง และสังเกตอาการ ความบกพร่องของการทรงตัว 5. ดูแลการใช้ยา สังเกตอาการ และปรึกษาแพทย์ ได้แก่ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ หรือมีประวัติการใช้ยาเป็นประจำตั้งแต่ 4 ชนิดขึ้นไป และ 6. สังเกตและตรวจความผิดปกติของการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว ไม่สามารถแยกความลึก/ระยะ เป็นต้น
 

“ในโอกาสนี้ ขอย้ำเตือนว่า เทศกาลสงกรานต์นี้ช่วยกันดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุ ไม่ให้อยู่ตามลำพัง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเอาใจใส่ดูแลสภาวะจิตใจของท่าน ประชาชนผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ 02-950-3967 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรพบว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้สูงอายุนอกจากปัญหาสุขภาพที่มาจากความเสื่อมของสภาพร่างกายที่เป็นไปตามวัยแล้ว ยังเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่นำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่นำไปสู่ภาวะทุพพลภาพและการพึ่งพึง ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการปรับระบบบริการสุขภาพให้สามารถรองรับดูแลผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นนี้

ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีแนวคิดจัดเตรียมระบบและความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับ พร้อมทั้งได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ขึ้น โดยมีบทบาทหน้าที่ในการประสานและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุทุกสิทธิที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเน้นรูปแบบ Home care และ community care เพื่อขับเคลื่อน 6 ด้านด้วยกัน คือ 1. การคัดกรองผู้สูงอายุ และพัฒนาฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน 2. การพัฒนาระบบบริการดูแลระยะยาวในชุมชน 3. การพัฒนาระบบการเงินการคลัง และชุดสิทธิประโยชน์ 4. การพัฒนากำลังคนเพื่อจัดบริการดูแลระยะยาวในชุมชน 5. การสร้าง การจัดการความรู้ และการติดตามประเมินผล และ 6. การพัฒนากฎหมาย/ระเบียบ/มาตรฐาน และการบริหารจัดการ พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานพัฒนาระบบการคัดกรองประเมินและระบบข้อมูลสารสนเทศการดูแลผู้สูงอายุ และคณะทำงานพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ โดยขณะนี้คณะทำงานฯ ทั้ง 2 คณะนี้ ได้จัดทำเครื่องมือ ระบบฐานข้อมูล และชุดสิทธิประโยชน์บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นรูปแบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน” ที่เป็นการวิจัยนำร่องใน 8 พื้นที่ เพื่อทดสอบหารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมที่สุด

“การดูแลผู้สูงอายุในโครงการนำร่องนี้จะเน้นไปยังพื้นที่ ซึ่งมีผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพและอยู่ในภาวะพึ่งพิงในระดับปานกลางและระดับรุนแรง คือกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านและติดเตียง โดยมุ่งให้เกิดการพัฒนาเชิงระบบที่มีความเชื่อมโยงของการจัดระบบบริการครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบเพื่อรองรับ การสนับสนุนการคลัง การปรับระบบบริการในสถานพยาบาลรองรับ ระบบบริการชุมชน การพัฒนากำลังคนและทรัพยากร รวมถึงการจัดทำระบบข้อมูล พร้อมกันนี้ยังต้องเชื่อมโยงกลไกการทำงานของหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด รวมถึงกลไกที่มีอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน อบต. กองทุน อบจ. อปท. และ สสจ. เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ทั้งนี้โครงการนำร่องนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 16 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2557 ถึงเมษายน 2558 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำมาประเมินผล ปรับปรุง ก่อนขยายรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น