xs
xsm
sm
md
lg

“นั่งหลังค่อม” ต้นเหตุสมองตื้อ-ออฟฟิศซินโดรม แนะ 10 วิธีลดเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยผลสำรวจพบพนักงานสำนักพิมพ์ 60% มีภาวะออฟฟิศซินโดรม เหตุอยู่แต่หน้าจอคอมพ์นานๆ แถมนั่งหลังค่อม ทำกล้ามเนื้อคอ สะบักตึงตัวตลอดเวลา หายใจไม่อิ่ม สมองตื้อเพราะรับออกซิเจนน้อยลง ทำงานได้ไม่เป็นร้อย อาการที่พบคือปวดหลัง ไมเกรน มือชา แนะ 10 วิธีลดเสี่ยง

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยทำงานในออฟฟิศและใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้ต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ร่างกายเคลื่อนไหวน้อย จนเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม คือกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยอวัยวะต่างๆ โดยคนที่มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่แล้ว หากทำงานในอิริยาบถที่ผิดซ้ำเติมอีก จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปี 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบทั่วประเทศมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 19 ล้านคน สำรวจพนักงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจำนวน 400 คน พบว่า ร้อยละ 60 มีภาวะออฟฟิศซินโดรม

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า อาการที่พบบ่อยของออฟฟิศซินโดรมคือ 1.ปวดหลังเรื้อรัง เนื่องจากอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง และนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอและสะบัก เมื่อยและตึงตัวอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังทำให้หายใจไม่อิ่ม กระบังลมขยายไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน เรียกว่าสมองไม่แล่น ศักยภาพทำงานไม่เต็มร้อย 2.ไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง เกิดจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงแดด ความร้อน และขาดฮอร์โมนบางชนิด และ 3.มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมืออักเสบ เพราะใช้คอมพิวเตอร์หรือจับเมาส์ในท่าเดิมนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการปวดของปลายประสาทนิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้

“จากรายงานผลการสำรวจพนักงานออฟฟิศในประเทศแถบยุโรป พบว่า ส่วนใหญ่ต้องปรึกษาแพทย์ด้วยอาการต่างๆ เช่นกัน อันดับหนึ่ง คือ ปวดหลัง รองลงมา คือ ปวดบริเวณคอ/ไหล่ และปวดศีรษะ ซึ่งเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการทำงาน และพบว่า กลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 16-24 ปี มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะออฟฟิศซินโดรมสูงถึงร้อยละ 55” ปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คนทำงานออฟฟิศสามารถลดความเสี่ยงได้โดย 1.ไม่ใช้เก้าอี้สปริงที่เอนได้ เพราะไม่มีการรองรับหลังเท่าที่ควร ควรเก้าอี้และโต๊ะที่ได้ระดับ และมีหมอนหนุนหลัง 2.กึ่งกลางจอคอมพิวเตอร์ต้องอยู่ในระดับสายตา แป้นคีย์บอร์ดอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ จะได้ไม่ต้องยกแขนขึ้นมาพิมพ์ 3.นั่งเก้าอี้ให้เต็มก้น หลังตรงชิดขอบด้านในเก้าอี้ กะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาทุก 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง 4.ปรับพนักพิงให้รองรับกับหลังส่วนล่าง ถ้าทำไม่ได้ให้ใช้หมอนหนุน ตั้งจอคอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ดในแนวตรงกับหน้า ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน 5.หาต้นไม้ในร่มมาปลูก ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตา 6.หมั่นออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 30 นาที 7.กินอาหาร 5 หมู่ให้ตรงเวลา 8.ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 9.เปิดหน้าต่างสำนักงาน เพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเท อย่างน้อยตอนเช้าและตอนพักกลางวัน และ 10.ปรับอารมณ์ พยายามไม่เครียด ผ่อนคลาย หรือไปเดินเล่นสัก 10 นาที


กำลังโหลดความคิดเห็น