จับสลาก ม.1 ไม่ตื่นเต้น เฉพาะ กทม.มีให้ลุ้นแค่ 20 โรง เหตุจำนวนเด็กในพื้นที่บริการปรับลดทุกปี ขณะที่ ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี เด็กมาเข้าจับสลากเกินแผนที่รับไว้ 4 คน จากแผนรับได้ 100 คน ตัดสินใจรับไว้ทั้งหมด ด้าน “อภิชาติ” เล็งยกเลิกจับสลากหรือสัดส่วนการจับสลากในพื้นที่บริการ เตรียมนำเข้าหารือ กพฐ.และผู้เกี่ยวข้องหลังเสร็จสิ้นรับ นร.ปีนี้
วันนี้ (6 เม.ย.) เมื่อเวลา 08.30 น.ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมคณะเดินทางตรวจเยี่ยมการจับฉลากเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน โดยในวันนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดให้มีการจับสลากเข้าเรียน ม.1 พร้อมกันทั่วประเทศ โดยบรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้าผู้ปกครองพร้อมบุตรหลานที่มีสิทธิจับสลากเข้าเรียนชั้น ม.1 ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 นำธูปเทียนและพวงมาลัยมาสักการะพระพุทธรูปประจำโรงเรียน เพื่อขอพรให้เป็นขวัญกำลังใจในการจับสลาก จากนั้นนักเรียนที่มีสิทธิจับสลากทุกคนต่างทยอยกันลงทะเบียน เพื่อจัดลำดับที่นั่งก่อนขึ้นยังหอประชุม โดยในครั้งนี้พบว่าเด็กบางคนได้แขวนเครื่องรางของขลัง เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ตนเองในการจับสลากด้วย
สำหรับบรรการศการจับสลากในวันนี้ไม่ค่อยสร้างความกดดันและไม่ต้องลุ้นเหมือนที่ผ่านมามากนัก เนื่องจากมีโรงเรียนที่จับสลาก จำนวน 20 โรง โดย 17 โรง เป็นโรงเรียนในสังกัด สพม.กทม.เขต 2 และ อีก 3 โรง สังกัด สพม.กทม.เขต 1 ขณะที่โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันการจับสลากสูง คือ โรงเรียนบดินทร์เดชาฯ 2 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า โรงเรียนสตรีวิทยา 2 โรงเรียนหอวัง และโรงเรียนปัญญาวรคุณ อย่างไรก็ตาม เฉพาะที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี แผนรับนักเรียนในพื้นที่บริการ รับได้ 100 คน มายื่นความจำนงขอจับฉลาก 167 คน แต่มารายงานตัวเพียง 104 คน ดังนั้น ทางโรงเรียนตัดสินใจประกาศรับเด็กเข้าเรียนไว้ทั้งหมดเพราะเห็นว่าสามารถดูแลได้และไม่เกิดผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ซึ่งส่งผลให้เด็กที่รอคิวจับสลากต่างเฮลั่นห้องประชุม ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองที่นั่งลุ้นอยู่ภายนอกเมื่อได้ยินการประกาศจากเจ้าหน้าที่ต่างแสดงความดีใจที่บุตรหลานของตนไม่ต้องลุ้นจับสลากเข้าเรียนเช่นกัน
นายอภิชาติ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม ว่า ปีนี้ในเขตพื้นที่บริการมีจำนวนเกินจำนวนที่รับได้ไม่มากนัก ซึ่งตนก็ได้ให้นโยบายไปว่าหากโรงเรียนไหนเกินจากส่วนที่รับได้ไม่เกิน 10 คน ก็ให้รับทั้งหมดโดยไม่ต้องมีการจับสลาก เพราะเวลานักเรียนมารายงานตัวจริงๆ จะขาดอยู่ประมาณ 10 คนทุกปี อย่างไรก็ตามหลังจากจับสลากครบทุกโรงเรียนแล้วนักเรียนคนใดยังไม่มีที่เรียนก็ขอให้แจ้งความจำนงในวันที่ 7-11 เม.ย.ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพม.) กทม.เขต 1 และ สพม.กทม เขต 2 รวมถึงแจ้งความจำนงไปยัง สพฐ.เพราะฉะนั้น หากนักเรียนไม่รู้ว่าตนเองจะไปไหนก็ขอให้ย้อนกลับไปที่โรงเรียนตัวเองสมัคร เพื่อให้โรงเรียนส่งชื่อไปรวมกันและจะจัดไปยังโรงเรียนสหวิทยาเขตต่างๆที่ยังมีที่นั่งให้นักเรียนเรียนอยู่ โดยทางเขตพื้นที่จะจัดสรรที่เรียนให้และจะประกาศรายชื่อในวันที่ 18 เม.ย.เพื่อให้นักเรียนไปรายตัวในโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งขณะนี้ทราบว่าโรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ที่ยังมีที่นั่งว่างอยู่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จำนวนนักเรียนในเขต สพม.กทม.เขต 2 ปีนี้มีจำนวนนักเรียนที่เกินจากจำนวนที่ สพม.กทม.เขต 2 จะรับได้ 2,925 คน ซึ่งน้อยกกว่าปีที่ผ่านมา ส่วน สพม.กทม.เขต 1 มีจำนวนนักเรียนเกินที่จะรับได้จำนวน 600-700 คน
ทั้งนี้เข้าใจว่าการจับสลากเข้าเรียนอาจสร้างแรงกดดัน จนทำให้มีผลต่อความรู้สึกเด็ก รวมทั้งผู้ปกครองที่ต้องมาลุ้นว่าบุตรหลานของตนจะจับสลากได้หรือไม่ ดังนั้น สพฐ.อาจจะพิจารณายกเลิกการจับสลากเข้าเรียนในชั้น ม.1 อีกทั้งเวลานี้จำนวนนักเรียนในพื้นที่บริการของโรงเรียนยอดนิยมก็ปรับตัวลดลงทุกๆ ปี แต่ขอให้การรับนักเรียนในปีนี้เสร็จสิ้นไปก่อน หลังจากนั้นจะมีการหารือกับคณะกรรมการรับนักเรียน รวมถึงคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งมีความห่วงใยในเรื่องนี้เช่นกัน อาจจะมียกเลิกการจับสลากเข้าเรียน และหาวิธีการแบบอื่นมาแทนที่ส่วนจะเป็นวิธีใดนั้นต้องรอหารือและรับฟังความจากผู้เกี่ยวข้องด้วยแต่จะมีการทบทวนแน่นอน
ด้าน นายพชรพงศ์ ตรีเทพา ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา 2 กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนสตรีวิทยา 2 มีเด็กมารายงานตัวจับสลากทั้งหมด 186 คน รับได้ 100 คน ซึ่งปีนี้ถือว่านักเรียนในเขตพื้นที่บริการลดลงกว่าที่ผ่านมาอย่างมาก ดังนั้น ตนจึงเห็นด้วยกับนโยบายนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้ลดโควตาจับฉลากรับนักเรียนในพื้นที่ลง เช่น โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ สพม.กทม.เขต 2 จำนวนเด็กลดลงเรื่อยๆ เป็นต้น ปีที่แล้วเด็กพื้นที่บริการมาสมัคร 500 คน แต่ปีนี้มาสมัคร 229 คน ซึ่งหากเอาโควตาจับสลากไปรับนักเรียน โดยการสอบคัดเลือกโรงเรียนแข่งขันสูงก็จะเป็นโอกาสให้โรงเรียนแข่งขันสูงได้พัฒนาคุณภาพและความจริงแล้ว โรงเรียนมาตรฐานสากลมีความเป็นไปได้สูงที่จะรับโดยการสอบคัดเลือกทั้ง 100% ซึ่งจะทำให้ได้เด็กมีความสามารถสูงเข้ามา ครูเองจะจัดการเรียนการสอนได้ดีกว่า เพราะได้เด็กที่มีไอคิวใกล้เคียงกัน ขณะที่เด็กสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ อย่างไรก้ตามต้องรอความชัดเจนจาก สพฐ.อีกครั้ง