เผยข้อมูลเบื้องต้นเกรดเฉลี่ย นศ.ป.ตรี สถาบันอาชีวะพบ 39 รายจาก 184 คนได้เกรดเฉลี่ย 3.75 ขึ้นไป ขณะที่เกรดเฉลี่ย 3.5-3.74 อยู่ที่ 28 คน “ชัยพฤกษ์” ยอมรับเกรดค่อนข้างเฟ้อและมีสิทธิ์ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 ตามเกณฑ์ เรียกด่วน ผอ.สถาบันอาชีวะร่วมหารือและหาทางสกัดปัญหา เพื่อให้การคุณภาพการศึกษา ป.ตรีมีความน่าเชื่อถือ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนได้ทำหนังสือแจ้งให้สถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่งจาก 38 วิทยาลัยที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ ส่งผลการเรียนภาคเรียนที่ 1 และ 2 ปีการศึกษา 2556 ของนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 684 คนมาให้เพื่อวิเคราะห์ผลการเรียนว่าเกรดเฟ้อหรือไม่นั้น ขณะนี้มีสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 และสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานครได้ส่งผลการเรียนมาให้แล้ว พบว่า จากนักเรียนจำนวน 184 คนในสาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการก่อสร้าง สาขาวิชาเทคโนโลยีแม่พิมพ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาช่างทองหลวง และสาขาวิชาการจัดการสำนักงาน มีผลการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ 3.75 ขึ้นไป 39 คน หรือ 21.19% เกรดเฉลี่ย 3.5-3.74 จำนวน 28 คน หรือ 15.21% และต่ำกว่า 3.5 จำนวน 117 คน หรือ 63.58%
อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะสาขาวิชาการตลาดและสาขาวิชาช่างทองหลวงของสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพฯ ที่มีนักศึกษารวม 39 คน มีนักศึกษาที่เกรดเฉลี่ย 3.75 ขึ้นไปรวม 22 คน ซึ่งเมื่อดูข้อมูลดังกล่าวแล้วถือว่าเกรดค่อนข้างเฟ้อมากและนักศึกษาเหล่า นี้มีสิทธิ์ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งและสอง เพราะตามหลักเกณฑ์ผู้ที่ได้เกียรตินิยมอันหนึ่งต้องมีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 3.75 ขึ้นไป และเกียรตินิยมอันดับสองเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 3.5 ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3.75 และจะต้องไม่มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่าพอใช้ 2.00 ในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง ทั้งนี้สำหรับสถาบันการอาชีวศึกษาที่เหลือกำลังทยอยส่งผลการเรียนเข้ามา เนื่องจากช่วงนี้อยู่ระหว่างการตัดเกรดในภาคเรียนที่ 2
ทั้งนี้ ในวันที่ 21 มี.ค. ได้เรียกประชุมหารือร่วมกับรักษาการผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่งเกี่ยวกับเรื่องของการวัดผลการเรียนของนักศึกษาว่าจะมีการป้องกันแก้ไข เกรดเฟ้อได้อย่างไรเพื่อให้คุณภาพการเรียนระดับปริญญาตรีอาชีวะมีความน่า เชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งตนห่วงว่าในการเรียนภาคเรียนใหม่นี้จะเข้าสู่ช่วงของการเรียนทวิภาคีที่นักศึกษาจะต้องไปฝึกปฏิบัติกับสถานประกอบ จึงคาดว่าผลการเรียนส่วนใหญ่น่าจะออกมาดี อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าแนวทางการกำหนดมาตรฐานและการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนและประเมินผลการศึกษาระดับปริญญาตรีของอาชีวะที่จะกำหนดให้มีการประเมินมาตรฐานฝีมือร่วมกับสถานประกอบการจะเป็นตัวสะท้อนได้ว่านักศึกษาที่ได้เกรดสูงจะมีมาตรฐานสูงตามผลการเรียนที่ออกมาหรือไม่ ซึ่งการประเมินมาตรฐานดังกล่าวนี้ สอศ.จะกำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการ ประเมินถึงจะจบการศึกษา
“การที่หลายวิทยาลัยให้เกรดนักศึกษาสูง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเปิดสอนปริญญาตรี เป็นปีแรกด้วยและการประเมินของผู้สอนจะอิงเกณฑ์ ฉะนั้นจึงต้องไปดูว่าวิธีประเมินมีความเที่ยงตรงแค่ไหนในแต่ละวิทยาลัย ส่วนการรับนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเปิดรับเข้าเรียนในปีการศึกษา 2557 อาจจะต้องมีมาตรการการประเมินผลการเรียนออกมาด้วยเพื่อไม่ให้เกรดเฟ้อ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การประเมินผลการเรียนในห้องเรียนของ อาจารย์ผู้สอนมากกว่าเพราะเกณฑ์การเรียนการสอนระดับปริญญาตรีที่ สอศ.นำมาใช้ ก็เป็นเกณฑ์ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยทั่วไป” นายชัยพฤกษ์กล่าว