ประกาศผล!! เด็กเก่ง 5 ทีมสุดท้าย สร้างแอปฯ ส่งเสริมสุขภาพ ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมสุขภาพคนไทย สสส.จับมือ Google หนุนเพิ่มศัพยภาพดันขึ้น Play Store
วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส.กล่าวในงานประกาศผลรางวัลชนะเลิศ โครงการ Health App Challenge : Hac พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพ ว่า จากความร่วมมือระหว่าง สถาบัน ChangeFusion Google ประเทศไทย บริษัท ซัมซุง (ประเทศไทย) จํากัด และ สสส.จัดกิจกรรม “Hackathon” ภายใต้โครงการประกวดการแข่งขันพัฒนาแอปพลิเคชันด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (Health App Challenge : Hac) เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ตามโจทย์ที่กำหนด 4 เรื่อง คือ 1.สุขบัญญัติแห่งชาติและเครื่องมือการตรวจสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชน 2.การลด ละ เลิก การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ 3.การออกกำลังกายและอาหารสร้างเสริมสุขภาพ และ 4.การใช้เงินอย่างมีวินัย เพื่อนำไปสร้างความรู้และพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน
“ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเครื่องมือสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแอปพลิเคชันจำนวนมากทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต สสส.จึงส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีการพัฒนาแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารและรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพได้ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้เยาวชนที่มีความสามารถด้านไอทีได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความคิดและพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์เพื่อคนไทยต่อไปในอนาคต” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
ด้าน นางสาวพรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวว่า จากการเปิดรับสมัครให้เยาวชนจัดทีม เข้าร่วมแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ พบว่า มีทีมที่ลงทะเบียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 69 ทีม โดยส่งผลงานเข้าร่วม 31 ทีม โดยผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้งสิ้น 5 ทีม คือ 1.Life Alcoholic : โปรแกรมถาม-ตอบเกี่ยวกับการดื่มเหล้า เพื่อทำนายสุขภาพในอนาคต สอดแทรกผลเสียของการดื่มเหล้า และผลดีของการไม่ดื่มเหล้า 2.Plant Money : โปรแกรมบันทึกรายรับรายจ่าย 3.HealthMe : เกมบนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกาลังกายผ่านโซเชียล 4.EAT-D : โปรแกรมบันทึกเวลาการออกกำลังกาย เพื่อคำนวณเป็นแคลอรี่ที่เผาผลาญ และ 5.Teeth for fun : โปรแกรม Animation แสดงภาพเคลื่อนไหววิธีการแปรงฟันที่ถูกต้อง
นางสาวพรทิพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการสนับสนุนนักพัฒนาแอปพลิเคชันรุ่นใหม่ เชื่อว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ 4 ด้าน คือ 1.เปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอปพลิเคชัน ได้นำเสนอไอเดียที่มีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ 2.นักพัฒนาได้รับความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การออกแบบ และการทำธุรกิจ 3.เกิดแอปพลิเคชันสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบ สามารถนำไปรณรงค์ให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง และ 4.เกิดเครือข่ายความร่วมมือจัดกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีส่งเสริมสุขภาวะจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
สำหรับ แอปพลิเคชันที่ชะเลิศที่ 1 คือ Plant Money : โปรแกรมบันทึกรายรับรายจ่าย อันดับ2 ealthMe : เกมบนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกาลังกายผ่านโซเชียล และ อันดับ3 H4.EAT-D : โปรแกรมบันทึกเวลาการออกกำลังกาย เพื่อคำนวณเป็นแคลอรี่ที่เผาผลาญ ทั้งนี้ แอปพลิเคชันที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนและต่อยอดให้แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นได้นำเสนอบน Play Store ต่อไป