xs
xsm
sm
md
lg

T-BAN ค้านมติ สธ.คงใช้แร่ใยหิน ขู่ไล่ “ประดิษฐ” ด้าน “ชาญวิทย์” ยันย่อยสลาย 3 เดือน ก่อมะเร็งน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่าย T-BAN รวมตัวคัดค้าน สธ.มีมติขอให้คงใช้แร่ใยหิน “ชาญวิทย์” ยันไม่มีการนำเสนอเข้า ครม.แน่นอน เพราะอยู่ในช่วงรักษาการ และไม่มีอำนาจตัดสินใจยกเลิก เพียงแค่ศึกษาข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น ยันชนิดไครโซไทล์ย่อยสลายได้ 3 เดือน ต่างจากแร่ใยหินตัวอื่น แถมก่อให้เกิดมะเร็งน้อยมาก

วันนี้ (24 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) ประมาณ 50 คน ได้รวมตัวคัดค้านข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ยังคงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ โดยเครือข่าย T-BAN ได้ยื่นหนังสือต่อ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.ในฐานะประธานการประชุมคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ขอคัดค้านมติของ สธ.ที่จะยังคงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศ 2.ขอให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข แถลงต่อสาธารณชนว่า จะไม่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจาก สธ.ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะนำเสนอมติดังกล่าว เพราะ นพ.ประดิษฐ เป็นเพียงรักษาการ รมว.สาธารณสุขเท่านั้น และ 3.ขอให้เปิดเผยผลการประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบสุขภาพจากแร่ใยหินที่มี นพ.ชาญวิทย์ เป็นประธาน เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ข้อมูลที่ นพ.ชาญวิทย์ นำเสนอต่อผู้บริหารกระทรวง แตกต่างไปจากผลการประชุมของคณะทำงานหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางเครือข่ายฯ จะได้รณรงค์ขับไล่ นพ.ประดิษฐ และ นพ.ชาญวิทย์ ออกจากตำแหน่งต่อไป

ด้าน นพ.ชาญวิทย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือคัดค้านจากเครือข่าย T-BAN ว่า สธ.ไม่ได้มีบทบาทในการพิจารณาที่จะสั่งยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน มีหน้าที่เพียงให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของแร่ใยหินเท่านั้น อีกทั้งการประชุมผู้บริหาร สธ.ไม่ได้มีมติให้มีการคงการใช้แร่ใยหินแต่อย่างใด เป็นเพียงให้มีการศึกษาผลกระทบการใช้ ซึ่งได้มีการซักถามในที่ประชุมด้วยว่า หากจะยกเลิกต้องใช้กฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานฯ ยังได้กำหนดกรอบการใช้แร่ใยหินว่า ถ้าจะมีการใช้ต้องเป็นระดับไม่เกิน 0.1 ไฟเบอร์ต่อซีซีต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ก่อมะเร็ง เท่ากับคนที่ไม่ได้รับสัมผัส เพราะฉะนั้นจึงมีความเสี่ยงเท่ากัน

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ ได้ศึกษาข้อมูลพบว่าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์จะย่อยสลายไปภายใน 3 เดือน แตกต่างจากแร่ใยหินชนิดอื่นที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกไปแล้ว ซึ่งจะสะสมนานเป็น 20 ปี และขณะนี้ขอยืนยันว่าตลอดช่วงการรักษาการของ นพ.ประดิษฐ จะไม่มีการนำผลศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพราะเป็นช่วงยุบสภา

จากการศึกษาพบว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ก่อให้เกิดมะเร็งน้อยมาก เมื่อเทียบกับแร่ใยหินที่ประเทศไทยยกเลิกไปแล้ว 4 ตัว คือโอกาสเกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเพียง 1 ต่อ 500 และมะเร็งปอดเพียง 1 ต่อ 50 แต่หากใช้ความรู้สึกมาตัดสินว่าควรแบนนั้น ถามว่าต้องให้แบนทุกอย่างทั้งเหล้า บุหรี่ หมูปิ้ง และเพศสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ เพราะก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งเช่นกัน ทั้งนี้ การแบนทุกอย่างก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะไม่เป็นมะเร็ง” รองปลัด สธ.กล่าว

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า อีกประการภาระโรคจากแร่ใยหินก็เกิดขึ้นต่ำมากในประเทศไทยทั้งที่มีการนำเข้ามาใช้เป็นจำนวนมากกว่า 70 ปี อย่างการสำรวจอาชีวอนามัยของคนงานกว่า 2,300 คนที่ทำงานในโรงงานผลิตที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ก็พบว่าสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ไม่ถือว่าเป็นโรค และพบผู้ที่เป็นมะเร็งเพียง 5 ราย แต่มีปัจจัยอื่นเป็นส่วนประกอบด้วย จึงถือว่าไทยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ก่อให้เกิดมะเร็ง



กำลังโหลดความคิดเห็น