xs
xsm
sm
md
lg

6 ข้อเสนอปกป้องเด็กจากการเป็นเหยื่อทางการเมือง / คอลัมน์พ่อแม่ลูกปลูกรัก โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นติดกัน 2 วัน จากเหตุการณ์ขว้างระเบิดและกราดยิงผู้ชุมนุมในเวที กปปส.ที่จังหวัดตราด ในคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 และเหตุการณ์การยิงระเบิด M-79 ในพื้นที่ราชประสงค์ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 จนเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตถึง 4 คน และยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จนทำให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนในวงกว้าง

สภาพความขัดแย้งในสังคมไทยสะสมมายาวนาน แต่ก็ยังไม่มีครั้งไหนจะสะเทือนความรู้สึกเท่ากับการสูญเสียเด็กน้อยในครั้งนี้ เพราะเด็กน้อยเหล่านี้คือผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เพียงแต่ได้ตกเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ และโชคร้าย

และแน่นอนทุกฝ่ายต่างก็ออกมาประณามพฤติกรรมที่ชั่วร้ายของผู้ก่อการ เพราะเด็กตกเป็นเหยื่อทางการเมือง

แม้แต่นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ครั้งนี้ว่า ผู้กระทำการครั้งนี้ต้องถือว่าขาดมโนสำนึก เป็นการกระทำที่สมควรประณามอย่างมาก ไม่ว่าอย่างไร ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะมีเด็กหรือไม่มีเด็กก็ตาม

ผู้ใหญ่มีหน้าที่ที่ต้องปกป้องเด็ก แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มาเกิดกับเด็กน้อย ซึ่งไม่ได้มาร่วมชุมนุมด้วย แต่มาซื้อของกับผู้ใหญ่ กลับโดนลูกระเบิดจนถึงขั้นเสียชีวิต จึงต้องขอประณามต่อการกระทำดังกล่าว นี่ไม่ใช่เรื่องเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง แต่เป็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ทุกคนที่มีหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และต้องทำอย่างจริงจัง ต้องมีสติ และมโนสำนึกที่ดี

จริงๆ บ้านเรามีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก โดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบัน ยกเว้นประเทศโซมาเลียและสหรัฐอเมริกา

ใน พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับนี้ระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ได้แก่

1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด - ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย

2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา - มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม

3.สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง - ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ

4.สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม - ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง

ทั้ง 4 ข้อ ต้องนำมาทบทวนกันหน่อยว่า การคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของชาติ หากปล่อยให้เด็กซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศชาติ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูพัฒนาอย่างเต็มที่และเหมาะสม หรือถูกทำลาย ทำให้เสียประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก รัฐจะขาดกำลังสำคัญของมนุษย์ที่จะเติบโตขึ้นมาดูแลรักษาสังคมนั้นต่อไปในอนาคต

จริงอยู่ว่ากรณีเด็กน้อยที่เสียชีวิตไม่ได้มาร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม มาทำธุระกับผู้ปกครอง แต่เข้ามาในพื้นที่ใกล้เคียงของพื้นที่ชุมนุม ซึ่งต้องถือว่าเป็นจุดเสี่ยง

ครั้งนี้จึงอยากจะขอหยิบยกเรื่องเด็กกับการชุมนุมมาเขียนถึงอีกครั้ง และก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่เห็นด้วยกับการพาเด็กเล็กไปในพื้นที่ชุมนุม หรือพื้นที่เสี่ยง และอยากให้ผู้ใหญ่เปิดใจให้กว้าง มองเด็กเป็นตัวตั้ง จะพบว่ามันส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว

ดังนั้น จึงอยากจะนำเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ตระหนักจริงจังและจริงใจสักทีว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง และยิ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรง มันได้ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก และอยากให้มองถึงอนาคตของเด็กด้วยว่าพวกเขาหรือเธอเหล่านั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนกัน

6 ข้อเสนอ เพื่อปกป้องเด็กจากการเป็นเหยื่อทางการเมือง

ข้อหนึ่ง ขอประณามคนก่อการ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็ออกมาแสดงตัวกันแล้วว่าไม่เห็นด้วย และก็ต้องตอกย้ำว่าต่อต้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบด้วย

ข้อสอง ฝากถามไปถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าควรจะต้องมีมาตรการหรือท่าทีต่อเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไร หรือแม้แต่คุณปวีณา หงสกุล ผู้ซึ่งมีภาพลักษณ์ในการปกป้องเด็ก ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงนี้กลับนิ่งเฉย เธอควรจะต้องมีท่าทีต่อสถานการณ์ครั้งนี้อย่างเร่งด่วนด้วยซ้ำ

ข้อสาม ไม่ว่าคู่ขัดแย้งจะเป็นฝ่ายไหนก็ต้องไม่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือหรือเงื่อนไขทางการเมืองเด็ดขาด

ข้อสี่ ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องมีท่าทีชัดเจนต่อการไม่สนับสนุนให้เด็กเล็กเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นการชุมนุมแบบสงบอหิงสา แต่จนถึงเวลานี้ชัดเจนแล้วว่ามีผู้ไม่หวังดีที่ต้องการจะสร้างสถานการณ์และก่อความรุนแรงถี่ขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายผู้ชุมนุมจึงควรจะต้องมีท่าทีไม่สนับสนุนให้มีเด็กในพื้นที่ชุมนุม หรือถ้ามีความจำเป็นของผู้ชุมนุมที่ต้องมาปักหลักพักค้างและพาลูกมาด้วย ทางแกนนำก็ต้องมีมาตรการหรือมีโซนปลอดภัยสำหรับเด็ก อาจประสานงานกับสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เพื่อช่วยดูแลเด็กเสมือนเดย์แคร์

ข้อห้า พ่อแม่ต้องไม่พาลูกวัยเด็กเล็กมาในพื้นที่ชุมนุมโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องผลกระทบที่ตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรง ใน 4 ระดับ

1.ความรุนแรงทางกายเป็นที่ประจักษ์ เพราะเกิดความสูญเสีย บาดเจ็บ

2.ความรุนแรงทางจิตใจ เป็นความรุนแรงที่เด็กได้พบทุกวัน ได้เสพสื่อเรื่องระเบิดลงตรงนั้นตรงนี้ โดยที่คนกระทำก็ไม่ได้รับบทลงโทษแต่อย่างใด กลายเป็นมองโลกในแง่ร้าย เพราะสังคมไม่ปลอดภัย ผู้คนไม่เคารพกฎกติกาของบ้านเมือง เกิดความหวาดผวาสังคม ไม่ไว้วางใจกัน

3.ความรุนแรงทางวาจา โดยเฉพาะ Hate Speed ท่ามกลางความขัดแย้งที่ต้องเข้าใจว่าเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมที่มีเจตจำนงแน่วแน่ ที่ต้องมีการ “ไฮด์ปาร์ก” แน่นอนว่าผู้ที่ไฮด์ปาร์กก็ต้องมีลักษณะพิเศษ ลีลาการพูดก็ค่อนข้างดุดัน และลีลาถ้อยคำก็ออกจะเชือดเฉือน ประกอบกับผู้ร่วมชุมนุมก็มีความคิดในทิศทางเดียวกัน และมีอารมณ์ร่วมเหมือนกัน โอกาสที่เด็กจะเลียนแบบเป็นไปได้สูง

4.ความรุนแรงทางทัศนคติ สืบเนื่องมาจากความรุนแรงทั้ง 3 ประการข้างต้นจะก่อให้เกิดความเคยชินและยอมรับเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ

ข้อหก  ถ้ารัฐบาลรักษาการไม่สามารถดำเนินการรักษากฎหมายบ้านเมือง และไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แล้วปล่อยให้ผู้ก่อการสร้างสถานการณ์รายวันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็โปรดลาออกไปทั้งคณะเถอะค่ะ

ปัจจุบันนี้เด็กกำลังขาดแบบอย่างที่ดีของสังคม เพราะเห็นแต่ภาพความขัดแย้ง การใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา ทั้งในและนอกจอ ซึ่งหากเด็กขาดต้นทุนที่ดี และเห็นแต่การแสดงออกที่ไม่เหมาะสม จะทำให้สังคมเกิดเด็กสายพันธุ์ใหม่ มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา และที่น่ากลัวก็คือ กังวลว่าเด็กจะขาดมโนสำนึกที่ดี

ขอปิดท้ายด้วยประโยคของคุณหมอสุริยเดวที่ว่า “การมีมโนสำนึกที่ดี หรือมีจิตสำนึกที่ดี แม้ไม่มีกฎระเบียบ หรือกฎกติกา แต่บ้านเมืองก็สงบสุขได้ แต่ถ้ามโนสำนึกไม่ดี จิตสำนึกตกต่ำ ต่อให้มีกฎกติกา หรือกฎหมายมากมายขนาดไหน บ้านเมืองก็ไม่สงบสุข”


กำลังโหลดความคิดเห็น