xs
xsm
sm
md
lg

คนไทย สูญเสียฟันเพราะ...โรคปริทันต์อักเสบ (โรคเหงือกอักเสบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ทญ.วลัยลักษณ์ เกียรติธนากร
ผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

เหงือกจ๋าฟันลาก่อน...เป็นวลีตลกๆ ที่หลายๆ คนคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าอวัยวะในช่องปากที่เรียกว่าเหงือกนั้นมีความสำคัญมากแค่ไหน เพราะเหงือกเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะปริทันต์ที่ทำหน้าที่ยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร และรองรับแรงในการบดเคี้ยว เหงือกปกติจะมีสีชมพู ขอบเรียบ ไม่บวม ไม่มีเลือดออก แต่ถ้าใครที่มีปัญหาเลือดออกขณะแปรงฟัน ขอให้พึงระวังว่านั่นอาจเป็นสัญญาณของ...โรคเหงือกอักเสบ ที่เป็นต้นตอหลักของการสูญเสียฟันได้เลยทีเดียว

ทญ.วลัยลักษณ์ เกียรติธนากร ผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคเหงือกอักเสบ เป็นโรคที่เกิดขึ้นในประชากรถึงร้อยละ 80 มีลักษณะคือ เหงือกมีสีแดง อาจจะมีลักษณะบวมเล็กน้อย และสิ่งที่จะใช้สังเกตได้ง่ายคือ “การมีเลือดออกขณะแปรงฟัน” ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกิดจากการแปรงฟันแรงหรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบคือ “คราบจุลินทรีย์” ซึ่งเกิดจากการสะสมของเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในน้ำลายลงบนตัวฟัน ลักษณะของคราบจุลินทรีย์เป็นคราบสีขาวอ่อนนุ่ม เมื่อมีปริมาณน้อยมักจะมองไม่เห็นเนื่องจากมีสีกลืนไปกับตัวฟัน หากคราบจุลินทรีย์ถูกทิ้งไว้นานจะเกิดการสะสมแร่ธาตุเกิดเป็น “หินน้ำลาย หรือหินปูน” ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์มากขึ้น เชื้อโรคที่เกาะบนหินน้ำลายนี้จะผลิตสารพิษทำให้ร่างกายมีการตอบสนองจนเกิดการอักเสบของเหงือกขึ้น

โรคเหงือกอักเสบหากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ในผู้ป่วยบางรายจะกลายเป็น “โรคปริทันต์อักเสบ” (สมัยก่อนเรียก โรครำมะนาด) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่ ลักษณะของโรคปริทันต์อักเสบคือ เหงือกไม่ยึดกับฟัน ร่วมกับมีการทำลายกระดูกที่รองรับตัวฟัน ตรวจได้จากการใช้เครื่องมือเล็กๆ หยั่งร่องเหงือกลงไปได้ลึก เรียก “ร่องลึกปริทันต์” ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคผลิตสารพิษและกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของร่างกายอย่างมาก จนเกิดการทำลายเหงือกและกระดูกที่ยึดฟัน โรคปริทันต์อักเสบเมื่อเป็นช่วงต้นมักจะไม่มีอาการ ลักษณะที่พอจะใช้สังเกตได้คล้ายกับลักษณะของโรคเหงือกอักเสบ กล่าวคือ เหงือกแดง บวมเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีเลือดออกขณะแปรงฟัน เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนกระดูกที่รองรับฟันถูกทำลายไปมากแล้ว อาจจะพบ เหงือกร่น ฟันโยก หรือฟันเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิม การมีหนองและกลิ่นปาก หรือเหงือกบวมใหญ่จนเป็นฝีปริทันต์ เมื่อมีอาการเหล่านี้แล้วการรักษามักจะยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง และในบางกรณีอาจจะไม่สามารถเก็บฟันไว้ได้

สำหรับการรักษาโรคเหงือกอักเสบนั้น ทญ.วลัยลักษณ์ ให้ข้อมูลว่าสามารถรักษาได้ง่ายโดยการขูดหินน้ำลาย (ขูดหินปูน) ร่วมกับการพัฒนาวิธีการแปรงฟันและใช้อุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสะสมใหม่ของคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค โดยสำหรับคนส่วนใหญ่ควรได้รับการขูดหินน้ำลายทุกๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันการกลับเป็นใหม่ของโรคเหงือกอักเสบ

อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งมีการละลายของกระดูกแล้ว ขั้นตอนการรักษาจะยุ่งยากขึ้น แบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ “ช่วงต้น หรือช่วงควบคุมโรค” โดยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการรักษาหลายครั้งจึงจะเสร็จทั้งปาก ขึ้นอยู่กับความลึกของร่องลึกปริทันต์และปริมาณหินน้ำลายใต้เหงือก

“ช่วงแก้ไข” ในรายที่ผู้ป่วยเป็นโรคในระดับที่รุนแรงมากขึ้น การรักษาช่วงต้นอาจจะยังไม่สามารถกำจัดคราบหินน้ำลายใต้เหงือกได้หมด จึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเหงือกในบางบริเวณร่วมด้วย ในบางกรณีที่เหมาะสมอาจสามารถทำศัลยกรรมปลูกกระดูกทดแทนได้ด้วย และการรักษาโรคปริทันต์อักเสบช่วงสุดท้ายคือ “ช่วงคงสภาพ” เนื่องจากสาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบคือเชื้อโรคจากน้ำลายที่มาสะสมบนตัวฟัน และแม้การรักษาจะเสร็จสิ้นแล้ว หากไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ โรคจะกลับเป็นใหม่ได้ง่าย ดังนั้นหลังจากการรักษาแล้วผู้ป่วยควรได้รับการขูดหินน้ำลายเพื่อป้องกันการกลับเป็นใหม่ของโรค ทุก 3-6 เดือน

เนื่องจากโรคปริทันต์อักเสบ เป็นผลจากการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อโรคในคราบจุลินทรีย์ ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันก็จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบสูงขึ้น ปัจจัยที่มีผลอย่างเด่นชัด คือ โรคเบาหวาน และการสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีโอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบมากถึง 2 เท่าของผู้ป่วยที่ไม่มีโรคนี้ และหากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี โอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบจะมากกว่าผู้ป่วยปกติถึง 11 เท่า เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ทั้งนี้หากผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และลดหรือเลิกสูบบุหรี่โอกาสในการรักษาโรคปริทันต์ให้ได้ผลสำเร็จจะมีมากขึ้น
ทญ. วลัยลักษณ์ เกียรติธนากร


กำลังโหลดความคิดเห็น