กสร.ชงร่าง มรท.คุ้มครองแรงงาน-ป้องกันค้ามนุษย์เข้าบอร์ด มรท.คาดเริ่มใช้ได้ในเดือน มี.ค.นี้ เล็งนำร่องกิจการประมงทะเล 22 จังหวัด แก้ปัญหาค้ามนุษย์ เผยสาระสำคัญห้ามยึดเอกสารแรงงาน ไม่ใช้แรงงานบังคับ ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน ไม่ให้เด็ก-หญิงตั้งครรภ์ทำงานอันตราย ไม่ลงโทษด้วยการหักค่าจ้าง
นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กสร.ได้จัดทำร่างมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.)ด้านคุ้มครองแรงงานและป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการนำไปใช้ปฏิบัติในการป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งจะเป็นมาตรการส่วนหนึ่งช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาของอเมริกาในการเป็นประเทศที่ต้องจับตามองด้านค้ามนุษย์โดยร่างมรท.ด้านคุ้มครองแรงงานฯ มีสาระสำคัญ 6 ประเด็นได้แก่ 1.การใช้แรงงานบังคับ เช่น สถานประกอบการต้องไม่กระทำ หรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ ไม่เก็บบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารใดๆ 2.ค่าตอบแทนการทำงาน เช่น สถานประกอบการต้องไม่หักค่าจ้าง ค่าตอบแทนการทำงานหรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างไม่ว่ากรณีใดเว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้
3.ชั่วโมงการทำงาน เช่น สถานประกอบการต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติของลูกจ้างไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงหรือสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมง และจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วันหรือตามที่กฎหมายกำหนด 4.การเลือกปฏิบัติ เช่น สถานประกอบการต้องไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรมและพัฒนา การพิจารณาเลื่อนขั้นหรือตำแหน่งหน้าที่ 5.การใช้แรงงานเด็ก เช่น สถานประกอบการต้องไม่ว่าจ้างหรือสนับสนุนให้มีการว่าจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ให้หรือสนับสนุนให้เด็กทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย และความปลอดภัย 6.การใช้แรงงานหญิง เช่น สถานประกอบการต้องจัดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยต่อการมีครรภ์รวมทั้งต้องไม่เลิกจ้าง ลดตำแหน่งหรือลดสิทธิประโยชน์เพราะเหตุจากการมีครรภ์ รวมถึงวินัยและการลงโทษ เช่น สถานประกอบการต้องไม่ลงโทษทางวินัยโดยการหัก หรือลดค่าจ้างและค่าตอบแทนหรือเงินอื่นที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้าง
อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ตนจะเสนอร่าง มรท.นี้เข้าสู่คณะกรรมการ มทร.ในเดือน มี.ค.นี้ หากคณะกรรมการเห็นชอบคนก็จะลงนามประกาศใช้ต่อไป หลังจากนั้นจะดำเนินการนำร่องการใช้ มรท.นี้ โดย กสร.จะขอความร่วมมือสมาคมผู้ประกอบการประมงทะเล สมาคมผู้ประกอบการอาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเลรวมทั้งผู้ประกอบการกิจการประมงทะเล ล้งกุ้งใน 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายทะเล เช่น สมุทรสาคร ระนอง สตูล ให้นำ มรท.นี้ไปใช้โดยจะจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวปฏิบัติตาม มรท.ในเดือน มี.ค.นี้
“เมื่อสถานประกอบการนำไปใช้ได้ระยะหนึ่งและมีความพร้อมก็สามารถยื่นขอรับการประเมินเพื่อให้ได้รับใบรับรองด้านคุ้มครองแรงงานฯ กสร.ก็จะลงไปประเมิน หากผ่านจะได้ใบรับรองซึ่งมีอายุ 3 ปี และจะมีการไปตรวจสอบทุกปี การที่สถานประกอบการได้รับใบรับรองด้านคุ้มครองแรงงานฯจะช่วยให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กกดขี่แรงงานและค้ามนุษย์ส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจ”นายพานิช กล่าว