xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! คนไทยอายุยืนขึ้น แต่ป่วยโรคเรื้อรังก่อนวัยอันควร จี้ดูแลสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.เผยคนไทยอายุยืนยาวขึ้น แต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังก่อนวัยหรือเร็วขึ้น ชี้ต้องทนเจ็บป่วยไปจนกว่าจะตาย เร่งดัน 5 ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาเริ่มจากปลายทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพตนเอง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “หลักการแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ในการประชุมพัฒนางานการมีส่วนร่วมเครือข่ายองค์กรประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า การสร้างเสริมสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องการฉีดวัคซีน แจกถุงยางอนามัย หรือการให้สุขศึกษาเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน โดยทำให้มีความรู้เพื่อดูแลตนเอง ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีต้องมีองค์ประกอบที่ดีตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 3 ด้าน ได้แก่ กาย ใจ และสังคม บวกกับที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ระบุเพิ่มเติม คือ จิตวิญญาณ ก็จะทำให้เกิดความสามารถในการสร้างผลผลิตต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี สุขภาวะที่ดี ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า การจะทำให้เกิดสุขภาพที่ดีจนเกิดสุขภาวะ ต้องเริ่มที่ปลายทาง คือจากตัวชาวบ้านก่อน และขยายไปยังครอบครัว ชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด จึงจะสำเร็จ แต่หากให้หน่วยงานกลางกำหนดลงไปคงทำไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ปลายทางจะทราบปัญหาสุขภาพในพื้นที่ที่เกิดขึ้น และจะสามารถแก้ไขได้ถูกจุด นอกจากนี้ เมื่อดูผลตอบแทนด้านสุขภาพ หากต้องการได้ผลตอบแทนที่ดีด้วยการมีสุขภาพที่ดีนั้น จะต้องมีการดูแลและสร้างสุขภาพที่ดีไปตลอดชีวิต ไม่แค่ช่วงใดช่วงหนึ่งของอายุ และยังต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา การตรวจและดูแลครรภ์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศได้คุณภาพประชากรที่ดี แต่ต้องเป็นการดูแลสุขภาพที่ต้องทำต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต

ที่เห็นได้ชัดคือปัจจุบันผู้หญิงไทยมีอายุยืนยาวขึ้น แต่กลับป่วยด้วยโรคเรื้อรังเร็วขึ้น เช่น โรคข้ออักเสบ หากป่วยตอนอายุ 40 ปี หมายความว่าจะต้องทนเจ็บป่วยด้วยโรคข้อไปจนกว่าจะเสียชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องถามว่าการมีชีวิตที่ยืนยาวเป็นตัวชี้วัดสุขภาวะที่ดีหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมีการผลักดันให้เกิดดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพราะเป็นสุขภาพของตนเอง เพื่อให้ชีวิตมีคุณภาพในระยะยาว” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กระบวนการที่ทำให้เกิดการสร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีต้องใช้การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากเครือข่ายในพื้นที่ เบื้องต้นจึงมีการกำหนด 5 ยุทธศาสตร์ที่เน้นการส่งเสริมและมีส่วนร่วมเครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อขับเคลื่อน คือ 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและมาตรฐานการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย 2.พัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และปราศจากช่องว่างกับองค์กรด้านสุขภาพ ภาคีทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ความเป็นเจ้าของระบบร่วมกัน 3.สร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบปฐมภูมิที่เหมาะสมในทุกมิติและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 4.หนุนเสริมระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบของประเทศ ให้เกิดการบริการที่เชื่อมโยง สอดคล้องและกลมกลืนกัน และ 5.เสริมสร้างและพัฒนาธรรมาภิบาลของการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ หากสามารถดำเนินการได้ตามยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้เกิดระบบที่เข้มแข็งและช่วยดูแลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น