xs
xsm
sm
md
lg

“ประดิษฐ” โพสต์เฟซบุ๊ก ปชช.ชินการชุมนุม พบมา รพ.ราชวิถี เพิ่มขึ้น 3 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” โพสต์เฟซบุ๊กระบุประชาชนเริ่มชินสภาพการชุมนุม พบมารับบริการในโรงพยาบาลใกล้ม็อบเพิ่มขึ้น พบ รพ.ราชวิถี เพิ่มขึ้น 3 เท่า ด้าน รพ.เลิดสิน เร่งเปิดให้บริการตึกผู้ป่วยนอกในปลาย ก.พ.ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหาเพิ่ม รพ.ขนาดรอง แก้ปัญหาผู้ป่วยล้นไป รพ.ใหญ่
ภาพจากเฟซบุ๊ก นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ P.Sintavanarong
วันนี้ (21 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในชื่อ “นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ P.Sintavanarong” ได้โพสต์ภาพและข้อความภายหลังเดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง สรุปความว่า จากการพูดคุยกับ นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี พบว่า ประชาชนในความดูแลของโรงพยาบาลเริ่มปรับตัวกับสภาพการชุมนุมได้ เห็นได้ชัดจากจำนวนประชาชนกลับมาใช้บริการมากขึ้น จากสัปดาห์ที่แล้วลดลงเหลือประมาณ 1,000 คนต่อวัน ขณะนี้กลับมาใช้บริการประมาณ 3,000 คนต่อวัน สอดคล้องกับ รพ.พระมงกุฎเกล้า ประชาชนมาใช้บริการ 2,400 คนต่อวัน เริ่มให้คิวผ่าตัดกรณีธรรมดาไม่เร่งด่วนมาก หลังจากที่ต้องลดคิวลงเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ จากการไปตึกผู้ป่วยนอก รพ.เลิดสิน นพ.สมพงษ์ ตันจริยาภรณ์ ผอ.รพ.เลิดสิน ระบุว่า กำลังพยายามเร่งให้เปิดใช้บริการภายในปลาย ก.พ.ก็จะสามารถให้บริการประชาชนชาวสีลม บางรัก เยาวราชให้ได้รับความสะดวกสบายขึ้น เพราะขณะนี้ปัญหาอย่างหนึ่งของการบริการประชาชนด้านการแพทย์ใน กทม.คือจำนวนโรงพยาบาล และการกระจายโรงพยาบาลยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่มีโรงพยาบาลขนาดรอง เพื่อมากรองผู้ป่วยที่อาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลพิเศษ หรือมีแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งการมีผู้ป่วยหลายระดับในโรงพยาบาลจะทำให้แพทย์ชำนาญการพิเศษต้องแบ่งเวลามาช่วยดูแลคนไข้ ถือเป็นปัญหาที่ สธ.ต้องร่วมกับ กทม.หาทางแก้ไข

“จากที่ผมได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ท่านได้ให้ข้อมูลว่าประชาชนในส่วนที่อยู่ในความดูแลของ รพ.เริ่มปรับตัวรับกับสภาพการชุมนุมได้ เห็นได้จากจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการ รพ.เริ่มมากขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วลดลงเหลือร้อยละ 25 หรือประมาณ 1,000 คนต่อวัน ในขณะนี้กลับมาใช้บริการที่ประมาณ 3,000 คนต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ รพ.พระมงกุฎฯ ที่มีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 2,400 คนต่อวัน หรือร้อยละ 60 ของช่วงปกติ ทางหน่วยบริการต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวได้โดยเริ่มที่จะให้มีคิวการรักษา หรือผ่าตัดกรณีธรรมดาไม่เร่งด่วนมากขึ้นจากเดิมที่ต้องมีการลดคิวเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือมีการใช้เตียงสำรองไปให้ผู้ป่วยดังกล่าวเพื่อลดการเสียโอกาสการรักษาของพี่น้องประชาชน”

“นอกจากนี้ผมได้แวะไปตรวจดูตึกผู้ป่วยนอกของ รพ.เลิดสิน ซึ่ง นพ.สมพงษ์ ตันจริยาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน ท่านพยายามเร่งให้เปิดใช้บริการให้ได้ภายในปลายเดือน ก.พ.นี้ ถ้าเป็นไปตามกำหนดก็สามารถบริการประชาชนในย่านสีลม บางรัก เยาวราช ซึ่งเป็นเขตที่ รพ.เลิดสิน ดูแลอยู่ และมีประชาชนจำนวนมาก เพื่อให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น”

“เพราะขณะนี้ปัญหาอย่างหนึ่งของการบริการประชาชนด้านการแพทย์ใน กทม.คือจำนวน รพ.และการกระจายหรือที่ตั้ง รพ.ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ รพ.ที่มียังเป็น รพ.ขนาดใหญ่ โดยไม่มี รพ.ขนาดรองลงมาเพื่อมากรองผู้ป่วยที่อาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ใน รพ.พิเศษ หรือมีแพทย์เฉพาะทางมาก เพราะการที่มีผู้ป่วยหลายระดับใน รพ.จะทำให้แพทย์ชำนาญการพิเศษต้องแบ่งเวลามาช่วยดูแลคนไข้ เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขคงต้องร่วมกับ กทม.หาทางแก้ไขกันต่อไป เพื่อประชาชนจะได้รับการดูแลที่ทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้นครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น