xs
xsm
sm
md
lg

ฟันเละ! บุฟเฟต์เบียร์ไม่อั้น-โฆษณาลดแลกแจกแถม เอาผิดแล้ว 63 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ฟันขายเหล้าเทศกาลปีใหม่ 63 ราย ใน 5 จังหวัด พบโฆษณาผิดกฎหมายมากที่สุด รองลงมาคือขายลดแลกแจกแถม โดยเฉพาะบุฟเฟ่ต์เบียร์ เติมไม่อั้น ห่วงคืนเคาทน์ดาวน์ใกล้อุทยานบนเขา ชี้ภูเรือห่างกันไม่ถึง 100 เมตร เสี่ยงอุบัติเหตุมาก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (31 ธ.ค.) นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (คร.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากการออกตรวจการละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เลย และ เชียงใหม่ เพื่อป้องกันและลดปัญหาดื่มแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจราจรมากอันดับ 1 พบว่า ใน 4 วันแรกของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 27 - 30 ธ.ค. ตรวจสอบทั้งหมด 204 ราย พบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และดำเนินคดีจำนวน 63 ราย ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณา สื่อสารการตลาด จำนวน 45 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 50,000บาท จนกว่าจะเลิกโฆษณา

นพ.สมาน กล่าวอีกว่า อันดับ 2 คือ การขายด้วยวิธีการต้องห้าม เช่น ลดแลกแจกแถม การชิงโชคชิงรางวัล เป็นต้น จำนวน 18 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันดับ 3 คือ ขายในสถานที่ต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ศาสนสถาน สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ จำนวน 4 รายมีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอันดับ 4 ได้แก่ การขายให้บุคคลอายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 1 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับทั้งนี้ผู้กระทำผิด 1 รายอาจจะทำผิดหลายกระทง

"วันที่ 31 ธ.ค.คาดว่าจะมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมาก เนื่องจากเป็นคืนเคาทน์ดาวน์ ประชาชนนิยมดื่มฉลองกันมาก จุดที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ จุดที่มีการเฉลิมฉลองบนดอย บนภูเขา จากการไปตรวจที่จังหวัดเลย พบว่า บริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติภูเรือ มีการเปิดลานเบียร์ในระยะไม่ถึง 100 เมตร ก่อนถึงประตูด่านทางขึ้นภูเรือ ซึ่งเป็นที่น่าวิตกกังวลต่อความปลอดภัยของประชาชน" นพ.สมาน กล่าวและว่า นอกจากนี้ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบส่งเสริมการขาย เช่น การจัดบุฟเฟ่ต์เบียร์ ดื่มได้ไม่อั้น ซึ่งเริ่มพบได้มากขึ้น อาจทำให้คนเมาหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจร เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดการทำงานของประสาทในสมอง ความสามารถการขับรถลดลง บังคับยวดยานได้ลำบาก จึงขอแนะนำเมื่อดื่มแล้วต้องไม่ขับรถทุกชนิด

นพ.สมาน กล่าวด้วยว่า เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นหล้าหรือเบียร์เข้าไป ร้อยละ 95 ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 20-30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีปฏิกิริยาทำให้ผู้ดื่มแจ่มใส ร่าเริงขึ้น หากมีระดับ 50-60 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มตัดสินใจช้าลง อยู่ในอาการมึนเมา มี โอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนไม่ดื่มถึง 2 เท่าตัว หากยังดื่มหนักต่อต่อเนื่อง สูงขึ้นกว่านี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ หากถึง 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีผลให้กดศูนย์หายใจ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น