xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งทาง 7 วันอันตรายตาย 209 ราย เจ็บ 1.9 พัน “โคราช” แชมป์เจ็บตายสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครึ่งทาง 7 วันอันตรายปีใหม่ ศปถ.เผยเกิดอุบัติเหตุ 1,818 ครั้ง เจ็บพุ่งสูง 1,931 ราย ตาย 209 ราย นครราชสีมาขึ้นแท่นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 13 ราย บาดเจ็บสุงสุด 81 คน เน้นตั้งจุดสกัดหลังเคานต์ดาวน์ปีใหม่ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมาจากเครื่องดื่มมึนเมา ด้านศูนย์เอราวัณระบุในเขต กทม.บาดเจ็บรวม 901 ราย ตาย 8 ราย
แฟ้มภาพ
ดร.ชาญเวช บุญประเดิม ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า วันที่ 30 ธ.ค. 2556 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ “ปีใหม่สัญจรปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 496 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 48 ราย บาดเจ็บ 541 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 44.76 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 23.39 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จักรยานยนต์ ร้อยละ 79.65 รถปิกอัพ ร้อยละ 8.61

ดร.ชาญเวชกล่าวอีกว่า พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 22.41 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.50 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.90 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.29 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 30.65 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 55.01 กลุ่มเด็กและเยาวชน ร้อยละ 26.15 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,257 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,968 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 662,959 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 101,523 ราย โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 30,491 ราย รองลงมาไม่สวมหมวกนิรภัย 28,275 ราย สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 23 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี จังหวัดละ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 29 คน

ดร.ชาญเวชกล่าวด้วยว่า สำหรับอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 27-30 ธ.ค. เกิดอุบัติเหตุรวม 1,818 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 209 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,931 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 4 วัน รวม 14 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี บึงกาฬ ยโสธร จันทบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก สมุทรสงคราม สระแก้ว สิงห์บุรี ปัตตานี และพังงา จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 4 วัน รวม 2 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 66 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 13 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 81 คน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถิติในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่าสาเหตุสูงสุดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุคือ ดื่มแล้วขับ ที่สำคัญคืนวันที่ 31 ธ.ค.หลายพื้นที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ศปถ.ขอกำชับให้จังหวัดจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัดบนเส้นทางและพื้นที่โดยรอบสถานที่จัดงาน สถานบันเทิง เข้มการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ พร้อมควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับขี่ หรือโดยสารในรถ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงานที่มีสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง รวมถึงกวดขันกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขับขี่จักรยานยนต์ด้วยความคึกคะนองและไม่สวมหมวกนิรภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ.กล่าวว่า วันที่ 1 ม.ค. 2557 คาดว่าประชาชนจะเริ่มเดินทางกลับอาจทำให้สภาพการจราจรบนเส้นทางจากภูมิภาคต่างๆ ที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถหนาแน่น จึงขอให้จังหวัดเตรียมปรับแผนการปฏิบัติงาน จัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการให้สอดคล้องกับช่วงเวลาและสภาพการจราจรในแต่ละพื้นที่ เน้นหนักถนนสายหลัก ที่เป็นเส้นทางตรงระยะทางไกลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันผู้ขับขี่หลับใน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ กวดขันผู้ขับรถที่กระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะรถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารและรถโดยสารสาธารณะให้มีความพร้อมในการขับรถและระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์

ด้านศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร สรุปผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในพื้นที่ กทม.ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 ว่า วันที่ 30 ธ.ค.มีผู้บาดเจ็บ 195 ราย ทำให้ยอดรวมสะสม 4 วันจาก 7 วันอันตราย มีผู้บาดเจ็บ 901 ราย เสียชีวิต 8 ราย

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ประธานศูนย์ข้อมูลการสื่อสารเพื่อความปลอดภัย (ศสป.) ภายใต้ ศปถ. กล่าวว่า วันที่ 31 ธ.ค. 2556 เป็นวันส่งท้ายปีเก่าที่ประชาชนต่างเฉลิมฉลองและมีการดื่มมากเป็นพิเศษ ขอแนะนำผู้ที่จะดื่มควรจอดรถไว้บ้าน เพราะสมรรถภาพในการขับขี่จะลดลง มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับรถกลับด้วยตนเอง ควรดื่มอย่างมีสติ รู้ขีดความสามารถในการดื่มของตัวเอง หากเป็นได้คนในครอบครัว เพื่อน หรือญาติควรเตือนและห้ามไม่ให้คนที่คุณรักดื่มจะดีที่สุด เพราะข้อมูลสถิติปีใหม่ 2556 พบว่า วันที่ 1 ม.ค. 2556 เกิดอุบัติเหตุสุงสุด เพราะมีการดื่มฉลองต่อเนื่องจากคืนวันที่ 31 ธ.ค. และวันที่ 1 ม.ค.เป็นวันที่หลายคนต้องรีบเดินทางกลับให้ทันวันเปิดทำงาน บวกกับมีความอ่อนล้า เพราะต้องขับรถระยะเวลานานๆ ทำให้ง่วงหลับใน จึงมีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตสูงกว่าช่วงเวลาอื่น

นายพรหมมินทร์กล่าวต่อว่า การสังเกตอาการหลับใน คือ หาวนอนไม่หยุด ลืมตาไม่ขึ้น บังคับรถให้อยู่ในเลนไม่ได้ จิตใจล่องลอยไม่มีสมาธิ จำไม่ได้ว่าขับผ่านอะไรมา ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าอาการหลับในกำลังจะเกิดขึ้น การป้องกันสามารถทำได้โดย เตรียมร่างกายให้พร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการง่วงคือ งดเว้นการดื่มเครื่องที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท จำพวกยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก และควรมีคนขับสำรองหากต้องเดินทางไกล หรือพักรถตามจุดแวะพักค้าง รวมทั้งป้อมยาม จุดตรวจเส้นทางหลักทุกสาย ซึ่งจะมีบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับในได้


กำลังโหลดความคิดเห็น