xs
xsm
sm
md
lg

กสร.เร่งส่งสรุปแก้ค้ามนุษย์ให้ พม.ห่วงถูกจัดระดับขึ้นจาก 2 เป็น 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสร.หารือ ก.ต่างประเทศ ห่วงไทยมีแนวโน้มถูกลดอันดับประเทศต้องจับตาค้ามนุษย์จากระดับ 2 หล่นไปอยู่ระดับ 3 เร่งทำข้อมูลสรุปมาตรการ-ผลแก้ปัญหาเป็นรายอุตสาหกรรม ชี้อุตสาหกรรมน้ำตาล-สิ่งทอมีลุ้นหลุดพ้นข้อกล่าวหาเพราะแก้ปัญหาคืบหน้า เร่งทำสรุปรายงานส่ง พม.ภายในเดือน ม.ค.ด้าน พม.ชี้ไทยยังไม่บังคบใช้กฎหมายอย่างจริงจังเร่งปรับแผนทำงานให้กระชับและเร็วขึ้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมร่วมกับ นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการจัดทำสรุปรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ส่งไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อเสนอต่อสหรัฐอเมริกาในเดือนก.พ.2557 ซึ่งหลังจากอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ได้รับฟังแผนงานการดำเนินงานและความคืบหน้าในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในอุตสาหกรรม ได้แก่ อ้อยและน้ำตาล สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม และประมงของ กสร.ก็ได้ให้คำแนะนำว่า กสร.ควรจัดทำสรุปรายงานโดยแยกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมและในรายงานสรุปผลแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมควรบอกรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน มาตรการ และผลการดำเนินงาน จะช่วยให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ชัดเจน

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า จากการหารือก็วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าเป็นหว่งว่า ปีหน้าประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะถูกจัดอันดับประเทศที่ต้องเฝ้าจับตามองด้านการค้ามนุษย์จากปัจจุบันอยู่ระดับ 2 อาจจะตกไปเป็นระดับ 3 ดังนั้น ไทยจะต้องตั้งเป้าหมายให้หลุดพ้นข้อกล่าวหาการค้ามนุษย์เป็นรายอุตสาหกรรมไป ทั้งนี้ เท่าที่ประเมินตอนนี้กลุ่มอุตสาหกรรมประเภทอ้อยและน้ำตาล สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มนั้น ประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาค้ามนุษย์ของอเมริกา และทำให้ไทยไม่ถูกลดอันดับไปอยู่ระดับ 3 เพราะแผนงานและการแก้ปัญหามีความก้าวหน้ามาก แต่จะต้องสรุปรายงานให้ชัดเจนมากที่สุดและอธิบายให้อเมริกาได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมของชาวเอเชียที่มักไปไหนมาไหนกันเป็นครอบครัว เช่น แรงงานไทยและต่างด้าวที่ทำงานในไร่อ้อย หรือแกะกุ้งในล้งกุ้ง มีลูกติดตามพ่อแม่และเด็กช่วยทำงานนั้นไม่ใช่การใช้แรงงานเด็ก แต่เป็นเพราะเด็กต้องการช่วยงานพ่อแม่ทำงานเอง แต่ กสร.ก็ได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการให้ดูแลลูกจ้างไทยและต่างด้าวไม่ให้นำลูกหลานเข้ามาในไร่อ้อยหรือในล้งกุ้ง แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมประมงคงใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งเพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. ตำรวจ กรมประมง กรมเจ้าท่า

“หลังจากนี้ กสร.จะเร่งประสานไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง สมาคมด้านอุตสาหกรรมประมง สิ่งทอและน้ำตาล เพื่อรวบรวมข้อมูลข้างต้นจัดทำสรุปรายงานและส่งไปยังพม.ภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้” นายพานิช กล่าว

ด้านนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงผลการรายงานการค้ามนุษย์ของประเทศสหรัฐเอมริกา (Tier Watch list) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ถูกจับตามองด้านการค้ามนุษย์ มาแล้ว 3 ปี โดยหากการส่งรายงานครั้งสุดท้ายประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยยังไม่ผ่านจะถูกปรับให้ไปอยู่ระดับ 3 ทันที ซึ่งหากตกไปอยู่ระดับ 3 นั้น จะทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือบางประการจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงนานาประเทศอาจจะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่สั่งซื้อสินค้าได้ ทั้งนี้ตนมีความกังวลเรื่องการอพยพของชาวโรฮิงญาที่อาจจะถูกมองว่าประเทศไทยไม่ได้แก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านแรงงานประมง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด เนื่องจากว่าการประมงเป็นแรงงานหนักค่าจ้างน้อยจึงมักทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานส่งผลให้มีการลักลอบเข้ามาทำงานของต่างด้าว และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือผู้ประกอบการเรือประมงไม่ให้ความร่วมมือด้านกฎหมายและไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะตามมา อีกทั้งประเทศไทยยังมีการบังคบใช้กฎหมายค่อนข้างอ่อนแอระบบการทำงานไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ดังนั้น พม.ในฐานะเจ้าภาพแก้ปัญหาจึงได้แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ประเด็นและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลดำเนินการแต่ละประเด็นอย่างเหมาะสม เพื่อการทำงานจะได้มีความกระชับและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินที่ผ่านมานั้น ไทยมีแผนปฏิบัติงาน คือมีการสรุปผลสัมฤทธิ์ว่าสถานการณ์การแก้ไขปัญหาเป็นว่าอย่างไร เรื่องของการดำเนินคดีซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ประเทศไทยถูกมองว่ายังไม่มีความจริงจังในการดำเนินคดีมากนัก การดูแลผู้เสียหายระหว่างการเป็นพยานในการดำเนินคดีโดยไทยเองได้มีการขับเคลื่อนในการช่วยเหลือผู้เสียหาย สร้างแรงจูงใจให้อยู่ต่อสู่คดี และระหว่างที่ผู้เสียหายอยู่ในประเทศไทยก็จะต้องจัดสรรค์ให้มีการทำงาน และการดำรงชีวิตที่ปลอดภัย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งลดการท่องเที่ยวที่เป็นการส่งเสริมการค้าประเวณี และจัดทำรายงานส่งสหรัฐอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น