xs
xsm
sm
md
lg

สรพ.ดึงมิติด้านจิตใจประเมินคุณภาพโรงพยาบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรพ.เล็งใช้มิติด้านจิตใจประเมินคุณภาพโรงพยาบาล คาดชัดเจนใน 1-2 ปี เน้นวัดผลเพื่อชื่นชม ยกย่อง ไม่มีตก
นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน)
นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.กล่าวว่า สรพ.ดำเนินโครงการ “สร้างเสริมมิติจิตตปัญญาสู่ระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน (Spiritual Health care Appreciation) หรือ SHA ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพบริการด้วยมิติจิตใจ ดูแลด้วยความรัก เข้าใจถึงจิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อนของผู้ป่วยแต่ละคน และคุณค่าของชีวิตเข้าไปใช้ในการดูแลคนไข้ระบบบริการสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลกว่า 500 แห่งจากทั้งหมด 1,300 แห่ง หรือคิดเป็น 46% เข้าร่วมเสริมสร้างมิติด้านจิตใจด้วยความสมัครใจและจะขยายผลอีกปีละ 100 แห่ง ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลมีความเข้าใจและส่งเสริมการใช้มิติด้านจิตใจในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น สรพ.จึงมีแนวคิดที่จะนำมิติด้านจิตใจมาใช้ในการประเมินคุณภาพโรงพยาบาล

ที่ผ่านมาสรพ.ยังไม่เร่งรีบที่จะนำมิติด้านจิตใจมาประเมินโรงพยาบาล เพราะว่าทันทีที่เริ่มประเมินคนจะติดกรอบการประเมิน จะมีการประเมินแค่ไหนก็ทำแค่ไหน จึงอยากปล่อยให้เกิดการเบ่งบาน เติบโตของเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันเริ่มเห็นว่าโรงพยาบาลมีความพร้อมสูง และความเข้าใจสูงขึ้น ในบางมิติเริ่มประเมินได้ เช่น สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา จะจัดสิ่งแวดล้อมอย่างไรให้คนรู้สึกว่าเข้าไปในสิ่งแวดล้อมนั้นแล้วตัวเองได้รับการบำบัด หรือบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว น่าจะกำหนดเป็นกิจกรรมที่ชัดเจนเพื่อประเมินได้ ซึ่งการประเมินไม่ได้ให้ตกแต่ประเมินเพื่อยกย่องเชิดชู เสริมให้ทำดีขึ้น เป็นการให้ความชื่นชม คาดว่าอีก 1-2 ปีจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น” นพ.อนุวัฒน์กล่าว

นพ.อนุวัฒน์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนเรื่องจิตตปัญญา หรือมิติด้านจิตใจในการดูแลคนไข้ จะทำให้เกิดระบบบริการที่ผู้คนไว้วางใจเป็นระบบบริการสุขภาพที่ยั่งยืน ถ้าทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งตอบสนองต่อความต้องการของคนไข้ได้รับในสิ่งที่ควรได้ ความไว้วางใจต่อกันและกัน ความรู้สึกที่ดีต่อกันจะเกิดกลายเป็นต้นทุนมหาศาล สามารถทำเรื่องยากๆ ได้ ถือเป็นการรองรับรูปแบบการบริการของโรงพยาบาลในอนาคตที่จะเปลี่ยนจากการดูแลโรคเฉียบพลันมีโรงพยาบาลเป็นฐานมาเป็นผู้ป่วยเป็นฐาน คนไข้ และครอบครัวต้องเข้ามามีส่วนร่วม รับผิดชอบและดูแลตัวเองมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจไว้ใจกันและกันระหว่างคนไข้และผู้ให้บริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น