xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ราชวิถีล้ำเปิดตัวเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมรุ่นใหม่ระบุเล็กขนาด 2 มม.ยังหาเจอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงพยาบาลราชวิถี เปิดตัวเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมอนุภาคโพสิตรอนเครื่องแรกในภูมิภาคอาเซียน ระบุใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการตรวจสามารถพบได้แม้ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กถึง 2 มิลลิเมตร
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ห้องประชุมตึก EMS ชั้น 2 โรงพยาบาลราชวิถี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์ถ่ายภาพเต้านมอนุภาคโพสิตรอน (Positron Emission Mammography Center หรือ PEM) ว่า จากรายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ซึ่งจัดทำโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดของหญิงไทย โดยมีผู้ป่วยทั่วประเทศสูงกว่า 20,000 คนต่อปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 คือปีละประมาณ 4,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีกรมการแพทย์จึงได้หาแนวทางป้องกันเพื่อลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต โดยการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก รวมทั้งเฝ้าระวังโดยอาสาสมัครและแกนนำรณรงค์สอนให้ผู้หญิงเรียนรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เนื่องจากมะเร็งเต้านมหากตรวจพบในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกสามารถทำได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammography) และอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากการตรวจพื้นฐาน จึงได้จัดหาเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัยมาใช้ในการให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อยืนยันและเพิ่มคุณภาพการตรวจรักษาและวินิจฉัยมะเร็งเต้านม โดยนำเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมอนุภาคโพสิตรอน หรือเครื่อง PEM ซึ่งเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคอาเซียนมาใช้ในโรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้งเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ในการวิจัย ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่อง PEM ออกแบบมาเพื่อตรวจเต้านมโดยเฉพาะ มีโปรแกรมช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยเพื่อส่งตรวจ โดยมีความละเอียดสามารถตรวจหามะเร็งที่มีขนาดเล็กได้ถึง 2 มิลลิเมตร การทำงานใช้หลักการถ่ายภาพรังสีแกมมาพลังงานสูงที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีชนิดให้อนุภาคโพสิตรอน ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ สารนี้จะถูกจับโดยเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของร่างกายในปริมาณที่แตกต่างกัน มะเร็งเต้านมมีการแบ่งตัว ในอัตราที่รวดเร็วทำให้ต้องการอาหารซึ่งคือน้ำตาลในปริมาณมาก ก้อนมะเร็งจึงจับสารเภสัชรังสีในปริมาณที่มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ดังนั้นการถ่ายภาพเต้านมด้วยเครื่อง PEM จะได้ภาพรังสีของเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งเต้านมเป็นจุดสว่าง เมื่อเทียบกับเนื้อเต้านมปกติ การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อผู้ป่วย 1 ราย จึงสามารถให้บริการตรวจผู้ป่วยได้ไม่เกินวันละ 4 ราย ปัจจุบันศูนย์ถ่ายภาพเต้านมอนุภาคโพสิตรอนได้ทำการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไปแล้ว จำนวน 11 ราย ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2354-8108 ต่อ 2516


กำลังโหลดความคิดเห็น