xs
xsm
sm
md
lg

8 วิธีเซฟชีวิตให้ปลอดภัยจากลอยกระทง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนลอยกระทง ระวังอุบัติเหตุพลุ ดอกไม้ไฟ และการจมน้ำ แนะใช้กระทงที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ยันไม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือเหตุภัยเพิ่มเติม ด้าน สคอ.เผย 8 วิธีเซฟชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุจากลอยกระทง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (13 พ.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พ.ย. สิ่งที่น่ากังวลคือ 1.การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ ซึ่งผู้ผลิตต้องมีมาตรการที่ชัดเจน เพราะเห็นได้ชัดถึงกรณีข่าวโรงงานผลิตดอกไม้ไฟระเบิด ทำให้มีคนเจ็บและเสียชีวิต ส่วนคนที่นำพลุหรือดอกไม้ไฟมาเล่นก็ต้องมีความระมัดระวัง ถ้าไม่จำเป็นไม่ก็ไม่ควรเล่น 2.การจมน้ำ ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กลงไปเล่นน้ำแล้วจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ และ 3.เรื่องสิ่งแวดล้อม ขอให้ใช้กระทงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

“ส่วนการเตรียมแพทย์เพื่อรับเหตุภัยต่างๆ ในช่วงลอยกระทงปกติก็มีการเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเตรียมอะไรเป็นพิเศษเพิ่มเติม เพราะว่าเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ คงไม่สามารถเตรียมพร้อมทั้งหมดได้ทุกจุด ก็อาศัยเตรียมการในระดับปกติ ถ้ามีเหตุโรงงานพลุ ดอกไม้ไฟระเบิดหรือการจมน้ำในระดับนี้ก็พร้อมรับมืออยู่แล้ว” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า อันตรายจากพลุ และดอกไม้ไฟ มี 3 ทางคือ ทางผิวหนัง นิ้วมือ และตา หากเกิดระเบิดขณะที่ใช้มือจุด จะทำให้นิ้วขาด หากเป็นพลุระเบิดถูกบริเวณใบหน้า จะทำให้ผิวหน้าไหม้ ขนตาและหนังตาไหม้ ทำให้เสียโฉม ที่สำคัญที่สุดคือ ตา อาจทำให้ตาดำไหม้ ขุ่นมัว เลือดออกช่องหน้าม่านตา อาจทำให้ตาบอดได้

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 28 แห่งทั่วประเทศ พบว่าในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ 2551-2555 มีผู้บาดเจ็บจากการถูกเปลวสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุรวม 2,979 ราย เฉลี่ยปีละ 596 ราย เสียชีวิต 8 ราย เฉพาะปี 2555 บาดเจ็บ 756 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยช่วงเทศกาลลอยกระทงพบผู้บาดเจ็บจากพลุร้อยละ 22 หรือประมาณ 166 ราย ที่น่าสนใจพบว่าการบาดเจ็บมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย อายุที่พบต่ำสุด 2 ปี สูงสุด 90 ปี ร้อยละ 16 เมาเหล้าร่วมด้วย และจากการวิเคราะห์อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดที่มือและข้อมือมากที่สุด ร้อยละ 43 ในจำนวนนี้กระดูกนิ้วมือแตกร้อยละ 15 นิ้วขาดบางส่วนและทั้งหมดร้อยละ 10 อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรองลงมาคือ ศีรษะ พบร้อยละ 13 แผลถูกความร้อนและสารกัดกร่อนบริเวณร่างกาย ร้อยละ 10

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เป็นอันตราย ต้องสอนให้ลูกหลานเข้าใจว่าห้ามจุดเล่นเองเด็ดขาด และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณที่จุดพลุ ระยะปลอดภัยในการยืนดูพลุ คือระยะ 10 เมตรขึ้นไป ส่วนในผู้ใหญ่ ต้องเล่นให้ถูกวิธีตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด คือ เล่นในโล่ง อยู่ห่างไกลจากบ้านเรือน รวมทั้งห่างไกลวัตถุไวไฟต่างๆ เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ตามมาได้อีก

หากจุดแล้วแต่ไม่ติดหรือไม่ระเบิด ห้ามจุดซ้ำอย่างเด็ดขาด เวลาเล่นควรเตรียมน้ำเปล่า 1 ถังไว้ใกล้ตัวเสมอ เพื่อใช้ดับเพลิงดอกไม้ไฟหรือพลุที่จุดแล้วแต่ไม่ระเบิด ที่สำคัญคือ อย่าทดลองทำดอกไม้ไฟหรือพลุเล่นเอง เนื่องจากเคมีแต่ละตัว สามารถทำปฏิกิริยา อาจจะทำให้เกิดอันตรายหรือกระทบกระเทือน สามารถทำให้ระเบิดได้ ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าเพราะอาจเสียดสีเกิดความร้อนระเบิดได้” อธิบดี คร. กล่าว

ด้าน นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า เทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พ.ย.สิ่งที่กังวลคือ การฉลองที่มักจะไม่พ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงสูงขึ้นกว่าปกติ โดยเทศกาลลอยกระทงปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 78 ราย และเสียชีวิตจากการจมน้ำ 21 ราย รวม 99 ราย บาดเจ็บ 678 ราย จึงขอให้ประชาชนลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว

นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า วิธีการเที่ยววันลอยกระทงให้สนุกและปลอดภัยคือ การตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน ศึกษาเส้นทางให้รอบคอบ และควรออกก่อนเวลาเพื่อเลี่ยงจราจรติดขัด เพิ่มความระมัดระวังในการขับ ไม่ขับเร็วเกินกำหนด ไม่ดื่มสุรา และปฏิบัติตามกฎจราจร ส่วนผู้ขับรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย ส่วนการเล่นพลุดอกไม้ไฟ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเพราะอาจได้รับบาดเจ็บจากการเล่นและเกิดไฟไหม้ได้ ซึ่งการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ หากสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"วิธีการป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทง จากข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คือ 1.เลือกลอยกระทงบริเวณท่าน้ำหรือโป๊ะเรือที่มั่นคงแข็งแรง หากนั่งเรือควรสวมใส่เสื้อชูชีพ รวมถึงขึ้นลงเรืออย่างเป็นระเบียบ 2.ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และมิให้เด็กลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง 3.ให้สัญญาณก่อนจุดพลุทุกครั้ง และออกให้ห่างจากบริเวณที่จุดพลุในระยะ 10 เมตรขึ้นไป 4.ห้ามจุดพลุ ดอกไม้ไฟ บริเวณใกล้แนวสายไฟ สถานีบริการน้ำมัน วัตถุไวไฟ และแหล่งชุมชน 5.ห้ามนำดอกไม้ไฟที่จุดไฟไม่ติดมาจุดซ้ำ หรือใช้ปากเป่าให้ไฟติด และไม่ยื่นหน้าหรืออวัยวะต่างๆ เข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่จุดไฟแล้ว 6.ไม่ดัดแปลงพลุ ดอกไม้ไฟ ให้มีแรงอัดหรือแรงระเบิดพลุ 7.หลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอยใกล้แหล่งชุมชน 8.ห้ามปล่อยโคมลอยบริเวณโดยรอบสนามบิน หรือช่วงที่เครื่องบินขึ้น-ลง” นายพรหมมินทร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น