ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สาธารณสุขเชียงใหม่ตั้ง 5 มาตรการเตรียมรับมืออุบัติเหตุประทัด-ดอกไม้ไฟช่วงลอยกระทง รองนายแพทย์ สสจ.ชี้ปีที่ผ่านมาเจ็บลด แต่ยังถือเป็นปัญหาสำคัญ เตรียมหาเคสมาเตือนเป็นอุทาหรณ์
วันนี้ (7 พ.ย.) ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการเตรียมการป้องกันอุบัติเหตุจากการเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟในช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า แม้สถิติปี 2555 ผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 และมีแนวโน้มลดลงเมื่อพิจารณาจากสถิติตั้งแต่ปี 2551 อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของการบาดเจ็บยังคงมีอยู่ และเกิดขึ้นเสมอในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยพบว่าอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการจุดประทัดแล้วระเบิดใส่มือหรือแขนขา จุดประทัดหรือดอกไม้ไฟแล้วโยนใส่ผู้คนหรือนักท่องเที่ยว และบาดเจ็บจากการประดิษฐ์ประทัด พลุ และดอกไม้ไฟไว้เล่นเอง เป็นต้น
ดร.ทพ.สุรสิงห์กล่าวว่า ปีนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ จึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บ 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. เตรียมความพร้อมหน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉิน และหน่วยตั้งรับในสถานพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชน ให้พร้อมรองรับผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ 2. รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจากการเล่นพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ รวมถึงอุบัติเหตุจากการจราจร
3. สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บาดเจ็บทั้งจากการเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ และอุบัติเหตุจากการจราจร ให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้วางแผนและประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าก่อนจะเข้าช่วงเทศกาลลอยกระทง 4. ขอความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข รณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลลอยกระทง และ 5. รวบรวมรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งจากอุบัติเหตุจากการจารจร และจากการเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ พร้อมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤศจิกายน
สำหรับการติดตามอาการบาดเจ็บในปีนี้จะเน้นดูว่ามีผู้ถึงขั้นพิการหรือไม่ เพื่อจะได้นำกรณีดังกล่าวมาเป็นตัวอย่างในการเตือนภัยปีต่อไป
ทั้งนี้ สถิติผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟของ จ.เชียงใหม่ ปี 2555 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 99 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ อายุ 10-29 ปี สาเหตุเกิดจากการเล่นประทัดมาทที่สุด ร้อยละ 64.694 อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุด คือ มือ แขน ขา และเท้า ร้อยละ 50.50 วันที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ วันลอยกระทงปีก่อน (28 พ.ย. 55) บาดเจ็บ 55 ราย พื้นที่เสี่ยงที่สุด ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่แตง และ อ.จอมทอง