xs
xsm
sm
md
lg

2 ปีเด็กเรียนเกษตรลดวูบ อาชีวะเร่งทำแผนการสอนสากลหวังดูดเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาชีวะเผย 2 ปี เด็กเลือกเรียนเกษตรลดลง เร่งจัดทำยุทธศาสตร์ฉบับเร่งด่วน เดินหน้าพัฒนาคุณภาพ ปรับหลักสูตรพัฒนาครู เพิ่มความทันสมัย หวังดึงเด็กกระตุ้นยอดผู้เรียนเกษตรขึ้น 100% ฟุ้งเน้นจัดการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับสากล
    นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วทษ.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประสบปัญหาเด็กเลือกเรียนด้านเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สอศ.ได้จัดงบประมาณลงไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายใน วษท.รวมถึงวิทยาลัยประมง พร้อมทั้งพัฒนาครูและปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ ให้ทันสมัย และเหมาะสม แต่ก็ยังไม่สามารถดึงดูดเด็กเข้าเรียนด้านการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้นได้ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนนักเรียนที่เรียนใน วษท.47 แห่ง ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 17,974 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 11,752 คน รวม 29,726 คน และเมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างผู้เรียนสาขาด้านการเกษตรกับสาขาอื่นๆ ที่ สอศ.จัดการเรียนการสอนอยู่ พบว่า ผู้เรียนสาขาด้านการเกษตรมีสัดส่วนน้อยมาก โดยระดับ ปวช.อยู่ที่ 4:96 และปวส.อยู่ที่ 5.6:94.4

ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กมาเรียนด้านการเกษตรมากขึ้น สอศ.จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การอาชีวศึกษาเกษตร พ.ศ.2557-2558 ฉบับเร่งด่วนขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรขึ้นเป็น 100% เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2556, จัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี และหลักสูตรเฉพาะทางเพิ่มขึ้น, จัดทำกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพอาชีวศึกษาเกษตรแห่งชาติ เทียบได้กับระดับสากล
และให้เกษตรกรในชุมชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการทางวิชาการ และวิชาชีพมากขึ้น

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2556 ภาควิชาเกษตรมีเด็ก ปวช.1 จำนวน 4,682 คน และ ปวส.1 จำนวน 3,657 คน รวม 8,339 คน ดังนั้นในปีการศึกษา 2557 ภาพรวมจะต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% หรือ 12,509 คน และปีการศึกษา 2558 ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 100% หรือ 16,678 คน

จะปฏิรูปการเรียนการสอนด้านการเกษตร โดยเน้นเด็กได้เรียนรู้จากโครงงานเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน รวมทั้งประสานกับสถานประกอบการ เพื่อให้เด็กได้เข้าไปฝึกปฏิบัติงาน เมื่อจบแล้วเด็กจะสามารถเลือกได้ว่าจะไปทำงานในสถานประกอบการ หรือจะไปประกอบอาชีพของตนเอง” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปีนี้จะมอบให้ วษท.จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้ วษท.แต่ละแห่งระบุชนิดของพืชที่จะทำการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของตนเอง ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดหน่วยเคลื่อนที่อบรมวิชาชีพเกษตรระยะสั้นให้แก่เกษตรกรในชุมชนต่างๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น