xs
xsm
sm
md
lg

ยอดตายอุบัติเหตุ 1.4 หมื่นรายตบหน้า สธ.ทำงาน 3 ปี ไม่เกิดผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดยอดสถิติตายจากอุบัติเหตุจราจรปี 2555 พบสูงถึง 1.4 หมื่นราย เฉลี่ยวันละ 38 ราย ตบหน้า สธ.เดินหน้าลดจำนวนผู้เสียชีวิต 3 ปีไม่คืบ ยอดอุบัติเหตุยังพุ่ง คนตายไม่ลด “หมอณรงค์” ขอตั้งหลักใหม่ ปี 2557 จัดทำฐานข้อมูลกลาง หวังวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนนโยบาย เน้นชุมชนทำงานป้องกันอุบัติเหตุ และพัฒนาการรักษาพยาบาล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (5 พ.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดป้ายอาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน รพ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งใช้งบก่อสร้างจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปี 2555 รอบที่ 1 วงเงิน 25,250,000 บาท สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า รพ.มวกเหล็กเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งริมถนนมิตรภาพ เส้นทางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการให้บริการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรและเหตุฉุกเฉินอื่นๆ เฉลี่ยวันละ 101 คน ทั้งนี้ สธ.ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่ปี 2554 ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี ขณะนี้การดำเนินงานแล้ว 3 ปี แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังไม่ลดลง

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุ ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 26,000 คน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ.ปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 14,033 ราย คิดเป็น 22 ต่อประชากรแสนคน ส่วนข้อมูลปี 2555 มีผู้เสียชีวิต 14,059 ราย เฉลี่ยวันละ 38 ราย เมื่อรวมยอดแล้วเท่ากับการโดยสารรถบัส 365 คันต่อปี บาดเจ็บสาหัสกว่า 2 แสนราย มูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลืออีก 7 ปี จะเร่งดำเนินการโดยตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี 2557 จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ร้อยละ 7 ต่อปี หรือไม่เกิน 7,000 ราย หรือลดลงกว่าเดิม 50% เพื่อให้อัตราผู้เสียชีวิตในปี 2563 เหลือเพียง 11 ต่อประชากรแสนคนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2557 สธ.จะเน้น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุจราจรให้มีฐานเดียวและฐานกลางประเทศ เพราะทุกวันนี้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน โดยให้กรมควบคุมโรค เชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางประกันภัย กระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลออนไลน์ วิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตและนำมาใช้วางแผนแก้ปัญหา คาดว่าจะประกาศใช้เป็นทางการภายในปี 2557 2.การป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิต เน้นกลไกอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง และเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ ใน 40 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูง จังหวัดละ 1 อำเภอ เป็นอย่างน้อย โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 3.พัฒนาระบบการรักษา โดยเฉพาะระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และคุณภาพห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือที่จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ภายใน 10 นาทีที่ได้รับแจ้งเหตุ และได้รับการดูแลรักษาที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการให้น้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น