xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เล็งขยายท่อระบายน้ำจาก 60 ซม.เป็น 1.50 ม.บอกทำแค่บางจุด เหตุเปลืองงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่อระบายน้ำ กทม.ขนาดแค่ 40 ซม. และ 60 ซม.ระบายได้ 60 มม./ชม.ชี้มีตะแกรงขนาดเล็กยิ่งทำระบายช้า เตรียมเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำกว้าง 1.50 ม.รองรับพื้นที่น้ำฝนมาก มีปัญหาน้ำท่วมเยอะ เผยไม่วางทั่ว กทม.เพราะต้องใช้งบมหาศาล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายพิบูล กลับประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองระบบท่อระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึง ศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ กทม.ว่า ระบบท่อระบายน้ำของ กทม.ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ตั้งแต่ขนาดความกว้าง 40 ซม.และ 60 ซม.ทั้งนี้ ขนาดความกว้างของท่อระบายน้ำ สามารถรองรับการระบายปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาในแต่ละพื้นที่ได้เพียง 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง แต่หากมีปริมาณน้ำฝนตกลงมามากเกิน 60 มิลลิเมตร ก็จะทำให้น้ำท่วมขัง ซึ่งก็จะต้องรอการระบายน้ำจากถนนลงท่อระบายน้ำ และระบายต่อไปยังบ่อสูบของแต่ละจุด ก่อนจะระบายต่อไปยังคลองต่างๆ ผ่านไปยังอุโมงค์ยักษ์ เพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

“ส่วนบางจุดมีการขยายท่อเพิ่มขนาดความกว้าง อาทิ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ และถนนราชปรารภ โดยมีการขยายท่อเป็นขนาด 80 ซม., 1.20 ม. และ 1.50 ม.เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำในจุดที่เป็นลุ่มต่ำ นอกจากนี้ สนน.อยู่ระหว่างการปรับปรุงบ่อสูบ บริเวณหลานหลวง เพื่อรับน้ำจากรอบเกาะรัตนโกสินทร์และชั้นในที่มักจะมีปัญหาน้ำท่วมขัง อีกด้วย” นายพิบูล กล่าว

นายพิบูล กล่าวอีกว่า อุปสรรคการระบายน้ำมีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งตะแกรงที่มีขนาดเล็ก ท่อระบายน้ำขนาดจำกัด และอุโมงค์ยักษ์ที่ยังมีไม่ครอบคลุมมุมเมืองของกทม. นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคเรื่องของการอุดตันของท่อจากสิ่งปฏิกูลจำนวนมากอีกด้วย สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กทม.นั้น สนน.จะดำเนินการแก้ไขโดยการแก้ปัญหาจุดอ่อนจุดเสี่ยงเป็นจุดๆ เช่น การเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำให้มีขนาดกว้าง 1.50 ม.เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่ระดับ 80-100 มิลลิเมตร ในจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก แต่จะไม่เพิ่มขนาดทั้้งหมดทั่วทั้งพื้นที่ กทม.เนื่องจากการรื้อวางท่อใหม่ให้ครอบคลุมนั้น จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งไม่คุ้มค่า ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาก็ไม่ได้ตกพร้อมกันทุกพื้นที่ ขณะที่สนน.เอง ก็มีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่รองรับน้ำในอนาคตอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ธ.ค.นี้ สนน.เตรียมจะเชิญสื่่อมวลชน เพื่อเข้ารับฟังขั้นตอนของระบบการระบายน้ำ เพื่อให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น