xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจับมือไจก้า ตั้ง “แคร์เมเนเจอร์” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุเริ่มแล้ว 5 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยจับมือไจก้า ตั้ง “แคร์เมเนเจอร์” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบถึงบ้านฟรี มี อปท.หนุนงบประมาณ นำร่องแล้ว 5 จังหวัด คาด 5 ปีรู้ผลประสบความสำเร็จหรือไม่ ก่อนขยายผลใช้ทั่วประเทศ ต้อนรับสังคมผู้สูงอายุ ส่วนตั้งเนิร์สซิงโฮมต้นทุนสูง อาจมีเฉพาะบางแห่ง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.นันทศักดิ์ ธรรมานวัตร์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 9.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร โดยเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในปี 2568 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (Japan International Cooperation Agency : JICA) ชื่อโครงการแอลท็อป (LTOP: Longterm in thai older person) เพื่อศึกษาว่าประเทศไทยควรจะมีแคร์เมเนเจอร์ (Care manager) สำหรับดูแลผู้สูงอายุในชุมชนหรือไม่ โดยดำเนินการศึกษาปี 2556 เป็นปีแรก ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี กรมอนามัย เป็นหน่วยงานดูแล เชียงราย นครราชสีมา มีสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุรับผิดชอบ และกรมสุขภาพจิตรับผิดชอบ สุราษฎร์ธานี ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะเลือกแคร์เมเนเจอร์ ประมาณ 15 คน สำหรับจ้างมาดูแลผู้สูงอายุทีิ่ติดเตียงในแต่ละวัน คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาราว 5 ปี หากระบบนี้ประสบความสำเร็จและเหมาะสมจะขยายผลดำเนินระบบนี้ในประเทศไทย

นพ.นันทศักดิ์ กล่าวอีกว่า แคร์เมเนเจอร์ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุแต่ละคนว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องใดบ้าง และประสานหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยจะเป็นการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ซึ่งผู้สูงอายุไม่ต้องเสียเงิน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสนับสนุนทรัพยากรทั้งคนและงบประมาณ ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นแคร์เมเนเจอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นพยาบาล แต่เป็นใครก็ได้ที่มีพื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุมาก่อน อาจจะเป็น อสม.แต่ต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานที่จะเข้ามารับการอบรมก่อนที่จะเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ

นพ.นันทศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การจัดตั้ง เนิร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) หรือบ้านพักในการดูแลผู้สูงอายุ ประเทศไทยมีมากในภาคเอกชน แต่ภาครัฐมีการศึกษาอยู่ในบางพื้นที่ เช่น รพ.ประสาท จ.เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งต้นทุนในการจัดตั้งสูงมากจึงไม่สามารถนำมาใช้ทั่วไปได้ จึงอาจจะมีการจัดตั้งเฉพาะที่จำเป็น เนื่องจากประเทศไทยใช้หลักการในการดูแลผู้สูงอายุ คืออยู่กับบ้านให้มากที่สุด ไม่ต้องมานอนโรงพยาบาลแต่มาแบบเช้าไปเย็นกลับ เช่น รพ.มีแผนกดูแลผูู้สูงอายุ ช่วงกลางวันที่ลูกหลานต้องไปทำงาน ก็พาผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแล เช่น มีปัญหาทางสมอง มาอยู่ที่โรงพยาบาล ตอนเย็นก็มารับกลับบ้าน หรือผู้สูงอายุอยู่กับบ้านแล้วมีเจ้าหน้าที่ไปดูแลที่บ้าน ไม่ต้องมาโรงพยาบาล เป็นต้น

การดูแลผู้สูงอายุของไทยจะเอาเรื่องคุณภาพชีวิตเป็นหลัก ผู้สูงอายุไทยชอบที่จะอยู่กับครอบครัว อยู่กับลูกหลาน ไม่อยากไปโรงพยาบาล อยากให้เจ้าหน้าที่มาดูแลที่บ้าน บางรายถึงกับพูดว่าไม่อยากไปโรงพยาบาล ถ้าจะตายก็ขอตายที่บ้าน ซึ่งระบบในการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยเริ่มชัดเจนขึ้น” นพ.นันทศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น