xs
xsm
sm
md
lg

อย.เสนอยกระดับยาสัตว์เป็นยาควบคุมพิเศษเตรียมชง คกก.ยาเห็นชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.เสนอยกระดับยาสัตว์ “ไซลาซีน” พร้อมยาอีก 4 กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท จากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษ เหตุมิจฉาชีพนำไปมอมยารูดทรัพย์ตามโรงพยาบาล ระบุต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้นจึงซื้อได้ เตรียมชง คกก.ยา พิจารณาเห็นชอบ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (15 ต.ค.) นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมิจฉาชีพนำ “สารไซลาซีน” ซึ่งเป็นยาสำหรับสัตว์มาใช้มอมคนปลดทรัพย์ในโรงพยาบาลรัฐ ว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ ครั้งที่ 2/2556 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ทั้งสัตวแพทยสภา กรมปศุสัตว์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น มีมติเสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมยาสำหรับสัตว์ที่นำไปใช้ในทางที่ผิด 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มแอลฟา ทู แอดดริเนอจิก อโกนิสต์ (Alpha-2-adrenergic agonist) ซึ่งสารไซลาซีนอยู่ในกลุ่มนี้ 2.กลุ่มเบนโซไดอาซีพีน เดริเวทีฟ (Benzodiazepine derivative) 3.กลุ่มบิวไทโรฟีโนน เดริเวทีฟ (Butyrophenone) และ 4.กลุ่มฟีโนไทอาซีน เดริเวทีฟ (Phenothiazine derivative) โดยให้ยกระดับยาทั้ง 4 กลุ่มจากยาอันตราย คือ ยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาซึ่งมีเภสัชกรเป็นผู้จำหน่าย ให้เป็นยาควบคุมพิเศษคือ ยาที่ต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้นจึงจะซื้อได้

นพ.ปฐม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเสนอให้กำหนดข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา ดังนี้ “ขายยาตามใบสั่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น และใช้ภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น” และให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จัดทำบัญชีและเก็บรายงานไว้ที่สถานประกอบการผลิต นำเข้า และจำหน่าย ไม่น้อยกว่าวันหมดอายุของรุ่นการผลิตของยานั้น เพื่อให้ อย.ตรวจสอบ ทั้งนี้ มติคณะอนุกรรมการชุดนี้จะเสนอให้คณะกรรมการยาพิจารณา ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ หากเห็นชอบก็จะประกาศบังคับใช้ต่อไป

ช่วงระหว่างการยกระดับยาดังกล่าว อย.ทำได้เพียงเข้าไปตรวจสอบผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ว่ามีการใช้ผิดปกติหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้นำเข้า 3 บริษัท และผลิตในประเทศอีก 3 แห่ง แต่คงไม่สามารถเข้าไประงับการจำหน่ายของผู้ประกอบการได้ เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะทำเช่นนั้น คงได้แต่ส่งหนังสือเวียนเพื่อขอความร่วมมือว่า เวลาจำหน่ายให้ระมัดระวังมากขึ้น และต้องจำหน่ายต่อเมื่อมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้น รองเลขาธิการ อย. กล่าว

นพ.ปฐม กล่าวด้วยว่า เมื่อยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษแล้ว โทษจะมีสองกรณีคือ 1.ผู้รับอนุญาต คือเจ้าของร้านขายยา หรือสถานพยาบาลสัตว์ หากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบจะมีโทษปรับตามมาตรา 105 ของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 คือ 2,000-10,000 บาท และ 2.ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการหรือเภสัชกร และสัตวแพทย์ หากมีการจำหน่ายยาที่ไม่มีใบสั่งจะมีโทษปรับ 1,000-5,000 บาท ซึ่งมีโทษเท่ากันกับกรณีที่เป็นยาอันตราย แต่เมื่อมีการควบคุมพิเศษจะมีการเพิ่มมาตรการโดยการสั่งซื้อต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์แทน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงอนุญาตให้มีการขายยาสำหรับสัตว์ในร้านขายยาสำหรับคน นพ.ปฐม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าร้านขายยาสำหรับสัตว์มีน้อยมาก ก็เลยอนุญาตให้ขาย โดยร้านขายยาที่ขายได้มี 2 ประเภทคือ ขย.1 หรือร้านขายยาทั่วไป โดยในพื้นที่ กทม.มี 4,443 แห่ง ภูมิภาคมี 7,680 แห่ง และ ขย.3 หรือร้านขายยาสำหรับสัตว์ โดยในพื้นที่ กทม.มี 87 แห่ง และภูมิภาค 658 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเป็นยาอันตรายจะต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น แต่เมื่อยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษ จะต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์ด้วย

รศ.น.สพ.สุวิชัย โรจนเสถียริ นายกสัตวแพทยสภา กล่าวว่า ยาทั้ง 4 กลุ่มเป็นยาสำหรับสัตว์ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หากนำมาใช้ในทางที่ผิดกับคนแบบเกินขนาดอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้ในการรักษาสัตว์ จึงต้องมีการควบคุมและดูแลการใช้ยาเหล่านี้ให้เข้มงวดมากขึ้น จึงยกระดับจากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษ

รศ.น.สพ.สุวิชัย กล่าวอีกว่า ในกรณีที่สัตวแพทย์ออกใบสั่งให้กับผู้ที่ไปซื้อยากลุ่มดังกล่าว แต่พบภายหลังว่านำไปใช้ในทางที่ผิดจนเกิดปัญหา ก็ถือว่ามีความผิดด้วย โดยจะมีคณะกรรมการจรรยาบรรณของสัตวแพทยสภา พิจารณาความรุนแรงของโทษ โดยความรุนแรงที่สุดคือเพิกถอนใบอนุญาตสัตวแพทย์ ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรณีโทษทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น