“อยากเรียนต่อด้านมัณฑนศิลป์ เพราะอยากออกแบบตกแต่งบ้านตามหนังสือที่อ่าน” เป็นคำพูดของ ”น้องเตย” วัย 15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สายวิชาออกแบบ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สาธิต มศว) ที่ทำให้หลายคนต้องการรู้ที่มาของความคิดนี้ว่ามีที่มาอย่างไร
”น้องเตย” เล่าว่า “เด็กๆ ตอน 5 ขวบ พ่อเอาหนังสือเรื่องแฮร์รีพอตเตอร์ภาษาจีนมาให้อ่าน แต่อ่านไม่ออกจึงบอกพ่อให้พาไปดูหนัง และในที่สุดก็ขอให้พ่อซื้อแบบแปลเป็นภาษาไทยให้อ่าน แฮร์รีพอตเตอร์จึงเป็นหนังสือซีรี่ย์ยาวที่ได้อ่านเป็นเรื่องแรกในชีวิตตอน 5 ขวบ และการอยากเป็นมัณฑนศิลป์ก็เกิดจากการอยากตกแต่งบ้านให้เหมือนในหนังสือแฮร์รีพอตเตอร์ อยากรู้ว่าบ้านที่ออกแบบเหมือนในหนังสือที่อ่านจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร”
หนังสือการ์ตูนที่อยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่เป็นหนังสือดีมีคุณภาพ ให้ทักษะการใช้ชีวิตในทุกมิติด้วยการสอดแทรกแนวคิด บ่มเพาะนิสัยที่พึงประสงค์ ปลูกฝังทัศนคติการใช้ชีวิตที่ดีทั้งในครอบครัว เพื่อน พ่อน้อง ผู้ร่วมงาน ฯลฯ ซึ่ง “น้องเตย” ได้สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของหนังสือการ์ตูนในแง่มุมดังกล่าวว่าเป็นจริง โดยระบุว่า “หนังสือการ์ตูนโดราเอมอน ถึงแม้จะไม่ได้บอกออกมาตรงๆ แต่ก็สอดแทรกข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับเรื่องการเรียนที่มักจะบอกว่าถ้าโนบิตะไม่ทำการบ้านก็จะไม่ดี”
การได้อ่านหนังสือการ์ตูนเล่มโปรดยังทำให้หลายคนเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็น “นักเขียน” เพราะประทับใจ “เจ้าของผลงาน” ที่ได้อ่าน “น้องแม็ก” วิชาชาญ โตวัฒนา วัย 15 ปี เพื่อนโรงเรียนเดียวกับน้องเตย บอกว่า “หนังสือที่ประทับใจที่สุดคือเรื่อง Bleach ของ คุโบะ ไทเทะ เพราะชอบลายเส้นของการ์ตูนและชอบเนื้อหาในเรื่องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการช่วยเพื่อน ตอนแรกๆ ที่ได้อ่านทำให้อยากเป็นนักเขียนการ์ตูน พออ่านไปเรื่อยๆ ทำให้ชอบเป็นคนวาดรูป มีความสุขที่ได้วาดรูป อนาคตจึงอยากเป็นสถาปนิก อยากเรียนต่อคณะสถาปนิก ที่สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”
ด้าน “เดอะดวง” วีระชัย ดวงพลา นักวาดการ์ตูนขวัญใจคนรุ่นใหม่ เจ้าของผลงานการ์ตูนหลายเล่มที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส่วนหนึ่งใน “108 การ์ตูนไทย การ์ตูนเทศ” ของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.เล่าย้อนไปในวัยเด็กว่า “ตอนเด็กๆ เริ่มวาดรูปด้วยการวาดตามคุณพ่อ (เรืองศักดิ์ ดวงพลา) หนังสือการ์ตูนที่ตอนเด็กๆ อายุประมาณ 5 ขวบ เริ่มอ่านคือขายหัวเราะ ดราก้อนบอล หนังสือที่ประทับใจคือ One Piece ของ เออิจิโร โอดะ เพราะเป็นหนังสือที่สร้างจุดเปลี่ยนของชีวิต ทำให้ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนในปัจจุบัน”
เมื่อพูดถึงหนังสือการ์ตูนเรื่อง “เรื่องมีอยู่ว่า” ของเดอะดวง ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน “108 การ์ตูนไทย การ์ตูนเทศ” และเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดรางวัลการ์ตูนนานาชาติ ครั้งที่ 4 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2554 (International Manga awards 4th) เดอะดวง บอกว่า หนังสือการ์ตูน “เรื่องมีอยู่ว่า” เป็นหนังสือการ์ตูนรวมเรื่องสั้น มีเนื้อหาใกล้ตัว เข้าถึงได้ง่าย เป็นแนวการเขียนที่ตัวเองถนัดที่สุด เนื้อหาเรื่องสั้นในเล่มจะเป็นเรื่องการให้กำลังใจในการใช้ชีวิต มีแก็กตลก และชวนให้ฉุกคิด อย่างในเรื่องจะบอกว่าเราควรเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ได้ทันทีไม่จำเป็นต้องรอวันขึ้นปีใหม่หรือไม่ควรรอเวลา
หนังสือการ์ตูน นักวาดการ์ตูน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้มากมายและหลากหลายมิติ และจุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือการ์ตูนรวมถึง วรรณกรรม หนังสือความรู้ต่างๆ มักเกิดขึ้นและเริ่มต้นจากการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในบ้าน รวมไปจนถึงการสนับสนุนการอ่านจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ที่ใกล้ชิดเลี้ยงดูเด็ก
นางสาวสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า โครงการชวนอ่าน 108 การ์ตูนไทย การ์ตูนเทศ เป็นโครงการที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2554 โดยจัดทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองกับสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือดี เพื่อให้เด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองได้เลือกอ่านหนังสือการ์ตูนดีและในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดนักเขียนการ์ตูนน้ำดีรุ่นใหม่ที่มีพลังสร้างสรรค์ เกิดการตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนที่มีคุณภาพ ทั้งด้านเนื้อหา ภาพประกอบและรูปแบบการนำเสนอ ทั้งนี้แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านต้องการให้ สังคมตระหนักถึงศักยภาพ ของสื่อประเภทการ์ตูน ในการนำมาพัฒนา และสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจอย่างสำคัญ และสร้างสรรค์จินตนาการ อย่างที่สื่ออื่นยากจะเข้าถึง