xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยยอดผู้ประสบภัยน้ำท่วม 1.9 ล้านคน ตาย 51 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดยอดผู้ประสบภัยน้ำท่วมสูงถึง 1.9 ล้านคน ตายแล้ว 51 ราย สธ.เร่งทุกจังหวัดเร่งดูแลประชาชนให้เหมาะสมสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะที่น้ำท่วมสูง ให้จัดระบบขนส่งยาและเวชภัณฑ์ ด้านปราจีนบุรีใกล้วิกฤต น้ำจ่อท่วมโรงพยาบาลประจันตคาม เร่งเสริมกระสอบทรายกั้นเต็มที่
แฟ้มภาพ
วันนี้ (10 ต.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และติดตามการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบชุดนายสะอาด ถุงยังชีพ และยาชุดผู้ประสบภัย ว่า ขณะนี้มี 28 จังหวัดยังประสบภาวะน้ำท่วม มีผู้ได้รับผลกระทบ 561,737 ครัวเรือน ประมาณ 1.9 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 51 ราย สูญหาย 1 ราย สำหรับมาตรการช่วยเหลือระยะแรกคือ การดูแลสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ อาหาร น้ำ และสุขภาพอนามัย ซึ่ง สธ.ได้ให้บริการทั้งในที่ตั้ง และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ ได้มอบให้ อสม.สำรวจที่อยู่ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ในชุมชนให้พร้อมอพยพได้ทันที

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ช่วงระยะ 10 วันแรกของน้ำท่วม ปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุมากกว่าโรคระบาด เช่น จมน้ำ ไฟดูด ของมีคมบาด และโรคที่พบได้ในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย ไข้หวัด โรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งความเครียด สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องดูแล คือโรคหลังน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู ได้กำชับให้ทุกจังหวัดวางแผนการให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่แล้ว โดยพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูงและท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ให้บริหารจัดการระบบขนส่งยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่

วันเดียวกัน ที่ อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ผู้ประสบภัยเกือบ 100% ประสบปัญหาส้วมใช้การไม่ได้ สธ.ขอแนะนำให้ประชาชนขับถ่ายลงในถุงดำหรือถุงพลาสติกแทน โดยอาจนำถุงพลาสติกสวมครอบในถังพลาสติกที่ทรงสูง หรือเก้าอี้พลาสติกเจาะรูตรงกลาง หลังจากนั้นให้มัดปากถุงให้มิดชิด รวบรวมใส่ในถุงดำ และเก็บไว้บนที่น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อนำไปฝังกลบหลังน้ำลด เพื่อลดความสกปรกของน้ำท่วม และเป็นการป้องกันการเกิดโรคระบาดที่อาจตามมา เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง ซึ่งขณะนี้เริ่มพบประปรายในบางพื้นที่ แต่สามารถควบคุมได้

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รวม 1,357 ครั้ง ผู้รับบริการ 73,973 ราย พบว่า น้ำกัดเท้ายังเป็นโรคอันดับ 1 ส่วนการประเมินทางจิตผู้ประสบภัย 6,201 ราย พบเครียดปานกลาง 855 ราย เครียดสูง 233 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1 ราย สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา ประสบอุทกภัยใน 6 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 12,090 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนวันละ 3 หน่วย มีผู้รับบริการ 4,013 ราย แจกยาชุดน้ำท่วมให้ผู้ประสบภัย 15,000 ชุด ในส่วนของสถานพยาบาลไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงโรงพยาบาลบางคล้า มีน้ำท่วมรอบๆ โรงพยาบาลสูงประมาณ 70 เซนติเมตร เปิดบริการได้ตามปกติ ส่งผู้ป่วยอาการหนักไปรักษาที่โรงพยาบาลพุทธโสธร 4 คน เหลือผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 14 ราย 

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.ปราจีนบุรี แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ อ.ประจันตคาม โดยระดับน้ำนอกโรงพยาบาลสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าวิกฤตที่สุดในรอบ 21 ปี หากระดับน้ำสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตรจะท่วมเข้าอาคารบริการ ได้ขนย้ายเครื่องมือแพทย์ขึ้นที่สูง และได้ขนย้ายเครื่องมือแพทย์บางส่วนออกจากโรงพยาบาล เพื่อเปิดบริการชั่วคราวที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ซึ่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 8 กิโลเมตร โดยเปิดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง หากผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาลจะส่งไปที่ รพ.นาดี และ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขณะเดียวกันได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ติดตามดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เพื่อไม่ให้ขาดยา ซึ่งมีประมาณร้อยละ 30-40 ที่เดินทางยากลำบาก

“สำหรับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขณะนี้ได้เสริมกระสอบทรายสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร เป็นแนวยาว 300 เมตร ที่บริเวณริมคลอง เพื่อกันน้ำเข้าโรงพยาบาล และเสริมบริเวณในรั้วโรงพยาบาล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จัดเวรยามติดตาม 24 ชั่วโมง สำรองยา เวชภัณฑ์ ออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยใช้ได้อย่างน้อย 1 เดือน และได้วางแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักไว้พร้อมแล้วซึ่งวันนี้มี 38 คน ไปที่ รพ.ค่ายจักรพงศ์ รพ.นครนายก รพ.ชลบุรี หากระดับน้ำเพิ่มขึ้น” ปลัด สธ.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น