xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อลูกวัยว้าวุ่นส่งเสียงถึงพ่อแม่!! / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆ นี้ ดิฉันได้ร่วมเสวนาเรื่อง “เติมสีสันให้วัยว้าวุ่น” มีวิทยากร รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ จากสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย, ดร.ภก.คทา บัณฑิตานุกูล เครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, คุณศุภลักษณ์ ทัดศรี บราห์มา กุมารี มหาวิทยาลัยทางจิตของโลก, อาจารย์ อนุวัฒน์ ปิงยศ ฝ่ายปกครองโรงเรียนสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า พร้อมกับตัวแทนนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า 2 คน คือ น้องมณิชา บัณฑิตานุกุล (น้องมีมี่) และน้องภคกิล ภัทรกุลชัย (น้องออม)

เรื่องราวงานเสวนาต้องการสะท้อนเรื่องราวจากละครเดอะซีรีส์ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย แต่ดิฉันอยากหยิบยกมุมมองของเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของน้องมีมี่และน้องออม ทั้งสองคนมาขยายความ เพราะสะท้อนวิธีคิดของเด็กยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

เด็กสาวทั้งสองคนชื่นชอบละครซีรีส์เรื่องนี้มาก น้องมีมี่เล่าให้ฟังว่าดูทุกตอน ส่วนน้องออมดูบ้างไม่ดูบ้าง แต่เธอทั้งสองพูดเหมือนกันว่า

“ดูเพราะอยากคุยกับเพื่อนให้รู้เรื่อง”
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เรื่องนี้ก็เป็นเหมือนอีกหลายเรื่องในชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่เขามักมีความสนใจร่วมกันในหมู่เพื่อน หรือเป็นความสนใจประเภทรวมหมู่ เวลาพูดคุยเรื่องอะไรกันก็อยากมีส่วนร่วมในกลุ่มเพื่อน อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน

……………….



ประโยคเด็ดของน้องออมที่พูดได้โดนใจผู้ใหญ่ในวงสนทนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่และครูบาอาจารย์ เป็นประโยคแทนใจ แทนความรู้สึกของตัวเอง ที่ต้องการสะท้อนให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่า เหตุผลที่ลูกวัยรุ่นมักไม่ปรึกษาพ่อแม่ และหันไปปรึกษากับเพื่อน หรือคนที่เขาคิดว่าไว้ใจและเข้าใจเขา ในขณะที่คนเป็นพ่อแม่ที่มักคิดว่า ด้วยความที่รักลูก และคิดว่าพยายามเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก ก็เลยมีความคาดหวังในตัวลูก แต่สิ่งที่ขาดคือความเข้าใจในตัวลูก

……………………

“พวกหนูอยู่โรงเรียนเจอเพื่อนวันละ 8 ชั่วโมง เป็นธรรมดาที่จะสนิทกับเพื่อน ในขณะที่เจอพ่อแม่น้อยมาก ในแต่ละวันบางทีก็ 2 ชั่วโมง แต่บางคนเจอกันเฉพาะสวัสดีทักทายกันเท่านั้น เด็กวัยนี้จึงมักคุยกับเพื่อนมากกว่า เรื่องบางเรื่องพ่อแม่ไม่เคยรู้ แต่เพื่อนรู้”

นี่คือชีวิตจริงของครอบครัวไทย โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ทำให้ไม่มีเวลาให้ลูก และการไม่มีเวลาให้ลูก ก็หมายถึงจุดเริ่มต้นของการแสวงหาคนที่มีเวลาให้พวกเขานั่นเอง

……………………

“พวกเราอยากทำตัวกับพ่อแม่หรือกับเพื่อนเหมือนกัน ไม่ใช่อยู่กับเพื่อนเป็นอย่างหนึ่ง อยู่กับพ่อแม่เป็นอย่างหนึ่ง แต่บางทีมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น”

เรื่องปฏิบัติตัวของพ่อแม่มีความสำคัญมาก เพราะการเลี้ยงลูกมีความจำเป็นที่คนเป็นพ่อแม่ต้องมีบทบาทที่หลากหลาย ถ้าทำตัวเป็นเพื่อนลูกในจังหวะที่เหมาะสม เข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก ก็จะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูก

…………………….

“พวกหนูอาจจะโชคดีก็ได้ มาโรงเรียนเจอคุณครูที่เข้าใจเด็ก คุณครูประจำชั้นหนูรู้ว่าวันนี้หนูอารมณ์ดีต้องมีอะไรแน่ หรือถ้าวันนี้เศร้ามาเลย คุณครูก็รู้ก็จะถามว่าเป็นอะไร พวกหนูว่ามันดีนะ มันได้ใจ”

ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้มีโอกาสเจอคุณครูที่เข้าใจหรือมีจิตวิทยาเด็กวัยรุ่น แต่เด็กสาวสองคนนี้โชคดีที่ได้เจอคุณครูที่ดี เพราะโรงเรียนมีความสำคัญอย่างมากในการรับไม้ต่อจากครอบครัว ถ้ามีการประสานงานกันระหว่างครอบครัวและโรงเรียน ประโยชน์สูงสุดก็จะเกิดกับเด็กแน่นอน

……………………..

ประโยคเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เด็กสาววัยว้าวุ่นสะท้อนความคิดออกมาให้ผู้ใหญ่ได้รับฟัง แม้จะไม่ใช่ตัวแทนของวัยรุ่นได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพได้ชัด ที่คนเป็นพ่อแม่ควรได้หยุดคิดและสะกิดใจได้บ้างไม่มากก็น้อย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สำหรับลูกวัยรุ่นนั้น ไม่ใช่จู่ๆ จะสามารถพูดคุยกันได้ทันที ถ้าครอบครัวไม่ได้ใกล้ชิด หรือพูดคุยกันได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ลูกวัยรุ่นไม่อยากคุยกับพ่อแม่ ทั้งที่อยู่ในวัยที่อยากรู้อยากเห็น แต่ไม่กล้าพูดคุย เพราะเกรงว่าพ่อแม่จะดุหรือตำหนิ หรือคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจตัวเอง หรือพ่อแม่ไม่มีเวลา ฯลฯ

พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น อย่างไรเขาก็ต้องมีโลกส่วนตัว เขาอยากพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน มีสังคมของตัวเอง บางเรื่องพ่อแม่ก็ต้องไม่ไปเซ้าซี้ หรือพยายามทำทุกทางเพื่อให้เขาพูดคุยกับเราให้ได้ เพราะเขาอาจจะยิ่งทำตรงข้ามและยิ่งห่างออกไป

ทางที่ดีต้องปล่อยให้เขาเป็นตัวของตัวเอง โดยที่พ่อแม่แสดงตนให้เห็นชัดเจนว่าพร้อมรับฟังทุกปัญหาของลูก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกมีปัญหาสามารถปรึกษาพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง ทำให้ลูกเกิดความไว้วางใจ แต่ไม่ใช่ไปก้าวก่ายในทุกเรื่องของลูก

ถ้าเข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก และพยายามสลายช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งพ่อแม่ควรเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการพูดคุยให้เป็นเรื่องปกติภายในครอบครัวให้ได้ในทุกเรื่อง ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น ลองย้อนคิดถึงสมัยพ่อแม่เป็นเด็กแล้วเคยมีปัญหาอึดอัดกับความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่ดูบ้าง

บางทีพ่อแม่อาจจะเข้าใจลูกวันนี้ได้ดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น