xs
xsm
sm
md
lg

เล็งจัดโซนนิ่งปลูกสมุนไพร พร้อมดันกรอบยุทธศาสตร์เข้า ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตรียมชงร่างยุทธศาสตร์พัฒนาสมุนไพรไทยเข้า ครม. วางกรอบดูแลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เล็งจัดโซนนิ่งการปลูกให้เหมาะสม สร้างมาตรฐานภาคธุรกิจ และหนุนสมุนไพรไทยให้เป็นสินค้า เชื่อช่วยเพิ่มจำนวนคนใช้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพรไทย ขณะนี้ได้เสนอต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาแล้ว ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยแผนประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.ส่งเสริมให้มีวัตถุดิบสมุนไพรอย่างเพียงพอและเหมาะสม โดยจะเน้นให้ชุมชนพึ่งตนเองด้วยสมุนไพร กำหนดพื้นที่ระดับจังหวัดในการปลูกสมุนไพรแต่ละชนิด (จัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูก) ซึ่งพิจารณาตามหลักการเกิดตามธรรมชาติ อาทิ กระชายดำ จ.เลย และ จ.อุดรธานี กวาวเครือขาว พื้นที่ภาคเหนือ เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมป่าสมุนไพรในชุมชน สนับสนุนกาคผลิตภาคเกษตรกรรม และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร

นพ.สมชัยกล่าวอีกว่า 2.พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการผลิตจะต้องมีการศึกษา วิจัยรองรับ มีหน่วยตรวจวิเคราะห์ สมุนไพรที่เป็นโอทอปต้องมีมาตรฐาน มีโรงงานแปรรูปสารสกัดสมุนไพร เพราะปัจจุบันในธุรกิจเครื่องสำอางมีการนำเข้าสารสกัดจากบัวบก ซึ่งมีสรรพคุณในการลดการแพ้จากต่างประเทศมูลค่าปีละจำนวนมาก สถานประกอบการภาคเอกชนมีมาตรฐานการผลิต มีโรงงานยากลางสมุนไพร และ 3. สนับสนุนสมุนไพรไทยสู่สินค้า กระตุ้นให้มีการใช้ในประเทศอย่างกว้างขวาง มีตราสัญลักษณ์สมุนไพรประเทศไทย มีศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้บริโภค และจัดตั้งตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร

“ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ แหล่งปลูกสมุนไพรต่างๆ ให้มีปริมาณเพียงพอและเหมาะสม กลางน้ำ ภาคธุรกิจ ต้องมีมาตรฐานจีเอ็มพีของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ต้องตอบสนองต่อผู้ใช้ เช่น ลูกประคบทำเป็นรูปแบบเจลเพื่อให้ใช้ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น เหล่านี้จะเกิดการขับเคลื่อนทั้งระบบให้สอดคล้องกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การใช้สมุนไพรมีคุณภาพ เหมาะสม ทำให้คนใช้มีจำนวนมากขึ้นอย่างปลอดภัย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะปัจจุบันสมุนไพรมีมูลค่าการตลาด 200-300 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อาทิ อาหารเสริมมีมูลค่าเป็นพันล้านบาท” นพ.สมชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น