xs
xsm
sm
md
lg

หมุนล้อวีลแชร์ไปกับแอปฯ “Wheel-go-round” เปิดพื้นที่เอื้อคนพิการแค่ปลายนิ้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในชั่วโมงเร่งด่วนของวันกับการขึ้นรถ ลงเรือ หรือจะโหนรถไฟฟ้า เชื่อเถอะว่า แม้แต่คนร่างกายแข็งแรงดีก็คงมีแอบบ่นในใจว่าชีวิตจะลำบากไปไหน กับการต้องมาอัดกันเป็นปลากระป๋องบนรถ หรือบริการขนส่งมวลชน เพียงเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ที่บางครั้งแค่อึดอัดกายยังไม่พอ แต่อาจถึงขั้นยี๊กลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ตามมาด้วย

แต่เคยนึกถึงหรือไม่ว่ายังมีบุคคลอีกกลุ่มที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากไม่แพ้กัน หากต้องหมุนล้อออกจากบ้าน เพียงเพื่อที่จะไปทำธุระบางอย่าง

กลุ่มคนเหล่านั้นก็คือผู้พิการ โดยเฉพาะกลุ่มที่พิการด้านการเคลื่อนไหว จำเป็นต้องนั่งรถวีลแชร์ แค่จะหมุนล้อออกจากบ้านไปซื้อข้าวของก็ลำบากแล้ว เพราะสิ่งแวดล้อมแดนสยาม ช่างไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาเอาเสียเลย

นายโสภณ ฉิมจินดา พิธีกรรายการล้อเล่นโลก ช่องไทยพีบีเอส หนึ่งในผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้รถวีลแชร์ เล่าว่า สภาพแวดล้อมที่ต่างๆ ยังไม่อำนวยสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ที่มีทั้งคนพิการและผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างหากจะไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ แค่เจอบันไดหน้าร้านเพียงแค่ขั้นเดียว ก็เป็นการปิดทางเข้าออกสำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว ที่สำคัญทุกครั้งที่ออกมานอกบ้านก็มักมีต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงกว่าคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้กลุ่มคนดังกล่าวส่วนใหญ่จึงอยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยออกไปไหน เพราะเกรงจะเป็นภาระให้แก่ตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม

ผมคิดว่าเราจะต้องช่วยกันกระตุ้นให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น เพื่อให้สังคมเห็นว่าเรายังมีตัวตน เมื่อเราออกมามากๆ เข้า สังคมก็จะปรับสภาพเพื่อเข้าหาพวกเราเอง และช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของเรามากขึ้น เหมือนที่ร้านอาหารปรับโต๊ะอาหารให้เข้ากับวีลแชร์ผมที่เดิมทีจะไม่สามารถเลื่อนเข้าใต้โต๊ะได้ แต่เพราะผมไปทานเป็นประจำก็เลยทำให้เขาเห็นความสำคัญขึ้นมา

แม้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุยังคงมีน้อย แต่ใช่ว่าจะไม่มี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนมีที่ที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้วีลแชร์ ล่าสุด เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้ลงมือรวบรวมข้อมูลสถานที่ที่อำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มคนพิการ เอาไว้ในรูปแบบของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันในชื่อ “Wheel-go-round” ที่เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสก็จะช่วยให้ผู้ใช้วีลแชร์หรือแม้แต่คนทั่วไป สามารถเลือกได้ว่าจะไปสถานที่ใด ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับสำหรับบุคคลกลุ่มนี้

น.ส.เภธรา ริมชลา หนึ่งในกลุ่มผู้ต้นคิด Wheel-go-round เล่าว่า เพื่อนของตนมีญาติที่ใช้วีลแชร์ ซึ่งมักจะพบปัญหาเรื่องการเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ตนและเพื่อนก็ได้คิดค้นและต่อยอดปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ พบว่า ส่วนใหญ่มักจะไปแต่ที่เดิมๆ ไม่กล้าเสี่ยงออกไปเจอกับสภาพที่ไม่แน่นอน ซึ่งหลังจากปรึกษากับอาจารย์ก็เลยลงมือทำสำรวจข้อมูลสถานที่ต่างๆ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ โดยเริ่มจากการเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ก เพื่อให้ข้อมูลและรับข้อมูลจากประชาชนทั่วไปก่อน จนเมื่อได้มีโอกาสมาเข้าเวิร์กชอป Innovate For Good ของไมโครซอฟท์ และได้มีโอกาสรู้จักกับทีม Microsoft Student Partners ซึ่งมาช่วยพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้สามารถใช้งานง่ายและใช้ได้จริง ก็ถือเป็นความสำเร็จที่เราได้สานฝันในสิ่งที่คิดค้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับแอปพลิเคชัน “Wheel-go-round” นายเกรียงไกร พิพัฒน์วิไลกุล ผู้ประสานงานการศึกษาของไมโครซอฟท์ ในฐานะผู้ดูแล Microsoft Student Partners อธิบายว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวเราพัฒนาขึ้นในแพลตฟอร์มของวินโดว์สโฟน ซึ่งเมื่อเข้าไปแอปพลิเคชันแล้ว หน้าจอจะมีเมนูให้เลือกว่าต้องการไปยังสถานที่ใด ดังนี้ 1.กลุ่มท่องเที่ยว ชอปปิ้ง บันเทิง 2.ขนส่งมวลชน 3.ศาสนสถาน 4.สถานที่ราชการ ธนาคาร ไปรษณีย์ 5.โรงพยาบาล และ 6.ร้านอาหาร โดยสามารถเลือกค้นหาได้ว่าสถานที่เหล่านี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดรองรับคือ ลิฟต์ ห้องน้ำ ทางลาด และที่จอดรถ ซึ่งสามารถเลือกเมนูค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวในบริเวณใกล้เคียงกับที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ได้ ที่สำคัญจะมีไอคอนแสดงสีถึงระดับของสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย เช่น ดีมากก็จะแสดงไอคอนเป็นสีเขียว พอใช้สีส้ม ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นสีแดง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการลงข้อมูลสถานที่ต่างๆ ประมาณ 200 จุดทั่ว กทม.เท่านั้น ยังต้องการให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันช่วยเพิ่มเติมสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์เพิ่มอีก ซึ่งแอปพลิเคชันจะมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้สามารถถ่ายรูป เพื่อเพิ่มสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการได้

ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนโครงการนี้ เพราะเห็นว่าจะช่วยจุดประกายให้กับการปรับสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ สสส.ดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยสนับสนุนพัฒนางานวิชาการ เพื่อแนะนำให้คนทั่วไปปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอาย คนพิการ โดยใช้เงินไม่มาก กระตุ้นสังคมรับรู้การมีอยู่ของคนพิการ และผลักดันนโยบายภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนให้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลทุกกลุ่ม ลดช่องว่างการใช้ชีวิต อันจะนำไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น