คณบดีศึกษาฯ มมส.เผยผลสำรวจจัดการเรียนการสอน ร.ร.ในภาคอีสาน กว่า 300 โรง พบนโยบายเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องได้ของ ศธ.สูงถึง 50 คนต่อห้องสร้างปัญหาต่อคุณภาพการศึกษา ทำ นร.และครูเครียด หนำซ้ำเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาฝากเด็ก ร.ร.ต้องแย่งกันรับ นร.เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวซึ่งเป็นวิธีการจัดสรรงบของรัฐ ชี้ถึงเวลาที่ ศธ.ต้องกำหนดจำนวน นร.ต่อห้องใหม่พร้อมระบุตัวเลขต่อห้องที่เหมาะสมไม่เกิน 35 คนต่อห้อง ไม่ใช่ 50 คนต่อห้องเช่นปัจจุบัน
วันนี้ (26 ก.ย.) รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบันเก่าแก่ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะศึกษาศาสตร์ มมส.ได้ทำการสำรวจการจัดการศึกษาในโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 300 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พบว่า นโยบายการเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง และให้โรงเรียนขยายห้องเรียนเพิ่มได้ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำให้เกิดผลเสียกับคุณภาพการศึกษา เช่น ปัจจุบันโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนประมาณ 50 คนต่อห้อง ทำให้ครูและนักเรียนเกิดความเครียด ซึ่งจากการสัมภาษณ์ครูผู้สอน พบว่า จำนวนนักเรียนที่มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอนที่นอกเหนือจากการบรรยายหน้าห้องเรียนได้ ทั้งนี้ ครูผู้สอนมีข้อเสนอว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 35 คนต่อห้อง จึงจะสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้
“วิเคราะห์ลึกลงไปพบว่าการที่ ศธ.มีนโยบายให้โรงเรียนเพิ่มนักเรียนต่อห้องได้ทำให้ปัญหาการฝากเด็กเพิ่มมากขึ้น และยังมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจากการสำรวจยังพบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่บางโรงเรียนมีนักเรียนมากถึง 6,000 คน หรือโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียน ประมาณ 3,000 คนขึ้นไป ซึ่งถือว่ามากเกินไป ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ในขณะที่โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก แทบไม่มีเด็กเรียน เพราะทุกคนมุ่งแต่จะเข้าไปโรงเรียนใหญ่ อีกทั้ง ศธ.ยังใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณตามรายหัวเด็ก เพรราะฉะนั้น เมื่อโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่มีเด็กเข้าเรียน งบประมาณก็ไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงเรียนขาดใหญ่ เกิดปัญหาโรงเรียนแย่งกันรับเด็ก และยังมีประเด็นการสนับสนุนที่ภาครัฐก็มุ่งแต่จะพัฒนาโรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ช่องว่างทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น” นายประวิต กล่าว
นายประวิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ศธ.ควรต้องกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ไม่ให้มากเกินไป โดยจำนวนที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 35 คนต่อห้องเรียน ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ไม่สามารถรับนักเรียนได้จำนวนมากเกินไป เป็นการกระจายเด็กไปสู่โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก ลดปัญหาฝากเด็ก ทำให้ครูดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง เกิดการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ