xs
xsm
sm
md
lg

คลังเตรียมดัน “เหล้า” เข้าวาระแห่งชาติ ด้านภาคเหนือขายเหล้าเถื่อนเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.คลัง เตรียมดัน “เหล้า” เป็นวาระแห่งชาติ หลังพบไทยติดอันดับก๊งมากสุดอันดับ 5 ของโลก แต่มีสถิติอุบัติเหตุสูงกว่า ชี้สะท้อนการทำงานภาครัฐมีปัญหา จี้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ด้านนักวิจัยเผยภาคเหนือมีโรงกลั่นถูกกฎหมาย แต่ลักลอบขายเถื่อนหน้าร้านสูง โดยไม่ผ่านกรมสรรพสามิต จี้แก้ปัญหาด่วน
ภาพประกอบจาก http://www.olp-ngo.org/voice/2555_08_02.php
วันนี้ (26 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานเสวนา เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน” จัดโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและพิการ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ ศูนย์ปัญหาวิจัยสุรา (ศวส.) โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาควิชาการเข้าร่วม ว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ทำให้ตนรับรู้ว่าปัญหาและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีเป็นจำนวนมาก ทั้งด้านสุขภาพและสังคม ซึ่งจากการระดมความเห็นและข้อมูลจากทุกฝ่าย จะมีการรวบรวมเพื่อเตรียมเสนอเป็นวาระแห่งชาติในการลดละเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาการปรับแก้กฎหมายคือ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

นายทนุศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่กลับมีปัญหาและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น อุบัติเหตุ มากกว่า 4 อันดับแรกของโลก แสดงให้เห็นว่าส่วนงานที่มีความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวมีความบกพร่องหรือไม่ ทั้งส่วนของฝ่ายการปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล กรมสรรพสามิต หรือแม้แต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่รณรงค์การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางให้ชัดเจนในการขับเคลื่อนเพื่อให้เรื่องนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เช่น กำหนดอันดับการบริโภคเครื่องดิ่มแอลกอฮอล์ว่าปีใดจะให้ลดลงเหลืออันดับเท่าไร โดยลำดับแรกอาจให้ลดเหลือตัวเลข 2 อันดับคือ อันดับ 11 หรือ 12 เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เพื่อป้องกันจำนวนนักดื่มทีเพิ่มขึ้น

สำหรับปัญหาเหล้าเถื่อน กรมสรรพสามิตก็ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยว่า ผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นอันตราย ก็จะช่วยให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้สะดวกขึ้น ไม่มีการต่อต้าน ส่วนมาตรการขึ้นราคาหรือภาษีนั้นผมมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหา เพราะราคาที่ขึ้นเพียง 1-2 บาท ถือว่าไม่มีผลต่อการดื่ม การแก้ปัญหาจะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกิดการลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งกลุ่มดื่มอยู่แล้ว และกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ เพื่อป้องกันเยาวชนเข้ามาสู่วังวนการดื่ม” รมช.คลัง กล่าว

น.ส.อรุณี ชำนาญยา ประธาน กมธ.กิจการเด็กฯ กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 พบว่า อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพะากลุ่มจังหวัดภาคเหนือที่มีสัดส่วนผู้ดื่มสุราสูงสุด โดยจังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักดื่มมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คณะกรรมาธิการฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบ และจำเป็นที่จะต้องเร่งหารือระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ จากการวางแผนพัฒนาแผนยุทธศาสตร์และควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ จ.พะเยา ประกอบกับการนำเสนอข้อมูลพื้นฐาน จะทำให้เข้าใจปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง เพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับประเทศต่อไป

ด้าน น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษาตัวอย่างโรงกลั่นสุรา 32 แห่ง และร้านจำหน่าย 142 แห่ง จาก 51 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตัวอย่าง 7 ตำบล ใน 3 อำเภอจังหวัดพะเยาในช่วงวันที่ 10-21 ก.ย. 2556 พบว่า โรงกลั่นเกือบทั้งหมดมีการลักลอบจำหน่ายสุราแบบไม่เสียภาษี (ไม่ติดแสตมป์) หรือสุราเถื่อน จำนวน 30 แห่งจาก 32 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94 ของโรงกลั่นที่ศึกษา ขณะเดียวกันร้านจำหน่ายสุรา จำหน่ายสุราแบบไม่เสียภาษีเพียง 3 แห่งจาก 142 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2 และพบการลักลอบนำสุราไม่เสียภาษีข้ามมาจากจังหวัดแพร่ด้วย ทั้งนี้ โรงกลั่นสุรามีกำลังผลิตเฉลี่ย 528 ขวดต่อเดือน แต่ขายสุราแบบติดแสตมป์เฉลี่ยงเพียงโรงละ 189 ขวดต่อเดือนหรือร้อยละ 31 เท่านั้นที่เสียภาษี และนำสุราไม่ติดแสตมป์มาขายในราคาถูกลงครึ่งหนึ่งจากที่ติดแสตมป์คือเฉลี่ยขวดละ 30 บาท โดยขณะนี้มีการเก็บตัวอย่างสุราชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายแบบไม่เสียภาษี ตรวจหาสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายแล้ว

น.ส.กนิษฐา กล่าวอีกว่า มีกรณีตัวอย่างของผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังที่คาดว่า เกิดจาการดื่มสุราที่มียาฆ่าแมลงเจือปน เป็นชายอายุ 60 ปี จาก จ.พะเยา ซึ่งรับการรักษาไปแล้ว 7 ครั้ง ปัจจุบันมีอาการเดินแล้วทรงตัวไม่ได้ เซตลอดเวลา โดยได้ระบุว่า การผลิตเหล้าเถื่อนในพื้นที่พะเยา ระหว่างกระบวนการหมักจะมีการใส่ยาฆ่าแมลงลงไปในถังหมัก และใช้ไม้ไผ่เหลาให้บางๆ นำไปจุ่มลงในถังสารเคมีที่เตรียมไว้ ซึ่งจะจุ่มลึกลงไปประมาณ 1 นิ้วของไม้ไผ่ จากนั้นนำไม้ไผ่ดังกล่าวไปคนในถังหมักที่เตรียมไว้ โดยเชื่อว่าหากผสมยาฆ่าแมลงจะทำให้ได้ปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้น เช่น ปกติได้สุรา 5 ขวด จะเพิ่มได้ถึง 8 ขวด และจากการทดลองดื่มสุราที่ใส่ยาฆ่าแมลงพบว่า หลังดื่มวันรุ่งขึ้นจะมีอาการคอแห้งรุนแรงและกระหายน้ำมาก ทั้งนี้ กรมสรรพาสามิตจำเป็นต้องเข้มงวดในการตรวจจับการผลิตและจำหน่ายสุราแบบไม่เสียภาษี นอกจากเป็นการปกป้องสุขภาพของประชาชนแล้วยังช่วยลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนและรัฐมีรายได้จากภาษีมากขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น