xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเหนือแชมป์คนเมา กมธ.เด็กฯแฉเหล้าเถื่อนผสม “ยาฆ่าแมลง-สารเคมี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.เด็กฯ จับมือ สสส.-เครือข่ายแอลกอฮอล์ แก้ปัญหา 6 จังหวัดภาคเหนือเป็นแชมป์คนเมามากสุดในประเทศ เผยโรงเหล้าเถื่อนผสม “ยาฆ่าแมลง-เคมี” ลดทุน เลี่ยงภาษี เป็นต้นเหตุปัญหาสังคมเพียบ ลั่นต้องแก้คุณภาพชีวิตให้ได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่โรงแรมพะเยาเกทเวย์ จ.พะเยา นางอรุณี ชำนาญยา ประธานคณะกรรมาธิการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวระหว่างการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จัดโดย กมธ.เด็กฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน ว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงและมีอัตราการดื่มสูงที่สุดในประเทศติดต่อกันหลายปี โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่น เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติ และส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น ทั้งจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บ ที่สำคัญยังพบปัญหาครอบครัวแตกแยก หย่าร้าง การใช้กำลัง ฆ่าตัวตาย ทุกภาคส่วนจึงต้องสร้างยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

นางอรุณี กล่าวอีกว่า จ.พะเยา เป็นจังหวัดที่มีการดื่มสุราเถื่อนมากที่สุดของประเทศ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีสุราพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิต จ.พะเยา จำนวน 260 แห่ง ซึ่งสูงมากในลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยการผลิตสุราพื้นบ้านยังพบปัญหาผู้ผลิตบางแห่งลักลอบเติมสารเคมี สารฆ่าแมลง เพื่อหวังผลให้เกิดความมึนเมามากขึ้นและเป็นการลดต้นทุนการผลิต โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด เนื่องจากผลิตทุก 3-5 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายต่อผู้ดื่ม นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการเลี่ยงภาษีทำให้สุรามีราคาถูกและมีการแบ่งขาย ทำให้เข้าถึงง่ายขึ้น

“การแก้ปัญหาในพะเยาเป็นเรื่องสำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รณรงค์และใช้มาตรการทางสังคม เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการแก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะแม้ว่าการกลั่นสุราจะสร้างอาชีพ แต่หากไม่คุ้มกับคุณภาพชีวิต และผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และยังถือเป็นการจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย” นางอรุณี กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ในปี 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ของประชากร พบว่า ภาคเหนือมีสัดส่วนของนักดื่มสูงร้อยละ 39.4 ซึ่งสูงกว่าภาคอื่นๆ และเมื่อพิจารณาค่าดัชนีคะแนนความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์ ยังพบว่า 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ พะเยา ปราจีนบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย ร้อยเอ็ด สุโขทัย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะพะเยามีอัตราการดื่มสูงที่สุดในประเทศติดต่อกันหลายปี จึงต้องมีการวางยุทธศาสตร์การทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหา โดยนำข้อมูลเชิงวิชาการ สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบกับใช้แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ รวมกับมาตรการที่มีประสิทธิผล เพื่อมาวางแนวทางการร่างยุทธศาสตร์จังหวัด และทำความตกลง เลือกหน่วยจัดการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นระบบในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ได้ในเดือนกันยายน 2556 เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น