xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตือนชาวบ้านยกของขึ้นที่สูงคาดน้ำเพิ่มระดับ 40-50 ซม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เตือนชาวบ้านริมน้ำเฝ้าระวังยกของขึ้นที่สูง คาดอีก 2 วัน ระดับน้ำเพิ่มกว่า 40-50 เซนติเมตร ด้านแนวรั่วฟันหล่อเสริมกระสอบทรายไว้ป้องกันชั่วคราว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (24 ก.ย.) นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ที่ประตูระบายน้ำคลองซุง เขตบางซื่อ โดยระบุว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ที่ระดับ 2,300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ประกอบกับน้ำที่มีฝนตกลงมาใต้เขื่อนตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคกลางตอนล่างอาจจะไหลมาสมทบ ขณะที่ระดับน้ำเหนือและน้ำหนุนในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณปากคลองตลาด วัดได้สูงสุดเมื่อเช้านี้ ที่ระดับ 1.72 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งระดับน้ำปริมาณดังกล่าวอาจจะทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย โดยเมื่อวานนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ออกคำสั่งให้สำนักงานเขตที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง ออกประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนกว่า 20 ชุมชน ที่อาศัยอยู่นอกแนวเขื่อนคันกั้นน้ำ เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยให้ยกของขึ้นที่สูง รวมถึงปลั๊กไฟ อีกทั้งอาจจะได้รับผลกระทบจากคลื่นกระทบของเรือด่วน พร้อมกันนี้ ให้เจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการทำสะพานทางเดินและจัดทำตารางน้ำขึ้น-น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์ ไปประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนรับทราบทุกวัน

ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 วันนี้ ระดับน้ำในภาคกลางจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 40-50 เซนติเมตรนั้น ทาง กทม.ก็ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการและบูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดปริมณฑล ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม.มีความเป็นห่วง จึงได้สั่งการให้ดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่จัดทำแผนดำเนินงานของ กทม.เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม.

รองปลัดกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวต่อว่า ส่วนบริเวณแนวเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจุดฟันหลอที่มีการรั่วซึมนั้น โดยเฉพาะแนวคันกั้นน้ำชั่วคราว เช่น ถนนทรงวาด บริเวณใต้สะพานซังฮี้ ร้านขนาบน้ำ และร้านริเวอร์บาร์ ขณะนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ เข้าไปดูแลพื้นที่แล้ว ขณะที่จุดฟันหลอบริเวณร้านขนาบน้ำ ระยะความยาว 85 เซนติเมตร ทางเจ้าหน้าที่ได้นำกระสอบทรายไปกั้นเป็นแนวเขื่อนชั่วคราว สูง 2.80 เมตร เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำ ยังได้เตรียมกระสอบทรายอีก จำนวน 5 ล้านใบ เพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กทม.ยังคงเฝ้าติดตามข้อมูลน้ำขึ้น-น้ำลง จากกรมอุทกศาสตร์ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ซึ่งจะต้องพิจารณาประกอบร่วมกัน ทั้งน้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลที่อาจจะหนุนสูงในช่วงนี้ โดยทาง กทม.จะดำเนินการตามแผนที่ได้วางมาตรการไว้ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ กทม.รับมือได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสัญญา ได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้างแนวเขื่อนถาวร ที่บริเวณสถานีสูบน้ำคลองบางพระครู ที่มีความยาวถึงหลังซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 เขตบางพลัด ระยะทาง 145 เมตร ระดับความสูงเขื่อนอยู่ที่ 3.50 เมตร ซึ่งเป็นจุดฟันหลอเดิม และมีปัญหาน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และขณะนี้การก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
สนง.บางพลัด ยันไม่ให้เกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54

ด้าน นายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางพลัด   ลงพื้นที่ตรวจแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา บริเวณชุมชนบวรมงคล เขตบางพลัด ซึ่งวานนี้ (23 ก.ย.) ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยารั่วซึมจากแนวคันกั้นน้ำของ กทม.โดยทางสำนักการระบายน้ำได้เร่งสูบน้ำออกและขณะนี้น้ำแห้งสนิทแล้ว จากนั้น นายคมสัน ได้เดินทางต่อไปยังซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 ซึ่งเคยเกิดกำแพงกั้นน้ำของเอกชนพัง ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เขตบางพลัดทั่วทั้งพื้นที่เมื่อปี 54 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด ทาง กทม.เจรจากับเจ้าของพื้นที่เพื่อก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำถาวรและดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว

            นายคมสัน กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้ดำเนินการเสริมแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนว โดยในพื้นที่เขตบางพลัดก็ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำจาก 2.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เป็น 3.5 ม.รทก.  ซึ่งระดับเจ้าพระยาขณะนี้อยู่ที่ 1.7 ม.รทก.สามารถรับได้อีกประมาณ 1.8 ม.รทก.  ส่วนจุดฟันหลอ อาทิ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 80 บริเวณโรงฟอกหนัง ร้านขนาบน้ำ ร้านริเวอร์บาร์  โดย กทม.ได้เข้าไปเจรจาและก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวรแล้วเกือบทุกจุด ยกเว้นที่ร้านขนาบน้ำ และร้านริเวอร์บาร์ ที่ยังไม่สามารถเจรจาได้  

            อย่างไรก็ตาม  ตนไม่ค่อยกังวลในการป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก กทม.ได้ป้องกันในพื้นที่จุดอ่อนไว้เกือบทั้งหมดแล้ว แต่ก็จะต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิด  แต่ตนกังวลสถานการณ์ฝนตกมากกว่า  ส่วนชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำในเขตบางพลัด มีอยู่ประมาณ 15 ชุมชน ที่ผ่านมาก็พยายามที่จะเจรจาให้ย้ายออก  ซึ่งบางส่วนยินยอมย้ายออกหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 และยังมีบางส่วนที่ไม่ย้ายออก ทั้งนี้ตนจะไม่ยอมให้เขตบางพลัดท่วมเป็นเขตแรกเหมือนเมื่อปี 54 เด็ดขาด   

กำลังโหลดความคิดเห็น