xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เน้นทำงานแบบแบ่งเขต ไม่รีบร่วมลงทุนเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชุมวิชาการ สธ.เน้นปรับการทำงานแบบแบ่งเขตสุขภาพ เล็งกระจายงบเข้าพื้นที่โดยตรง แต่ต้องวิเคราะห์งบประมาณงานส่วนใดมีโอกาสขาดทุน ระบุไม่รีบร้อนแนวทางร่วมลงทุนภาคเอกชน มอบรองปลัด สธ.เร่งศึกษา ขณะที่ในงานมอบรางวัลผลงานวิชาการรวม 7 รางวัล
วันนี้ (11 ก.ย.) ที่โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2556 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 21 โดยปีนี้เน้นเรื่อง “ปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อคนไทยสุขภาพดี” ว่า การประชุมในครั้งนี้จะมีการเผยแพร่นำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยในพื้นที่ในการพัฒนาระบบบริการ แก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย และแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพดีแก่ประชาชน ในรูปแบบต่างๆ สร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ทางวิชาชีพ และนวัตกรรมต่างๆ นำความรู้ไปพัฒนาระบบบริการให้เกิดประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขและประชาชนผู้รับบริการต่อไป โดยปีนี้ มีผู้ส่งผลงานวิชาการเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 555 เรื่อง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผลงานวิจัยที่นำเสนอแบบวาจา 325 เรื่อง ผลงานวิจัยที่นำเสนอแบบโปสเตอร์ 155 เรื่อง และผลงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 75 เรื่อง ผลงานทั้งหมดได้ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาอาชีพของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยต่างๆ และจะคัดเลือกผลงานวิชาการที่ดีที่สุดให้ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปีต่อไป

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้จัดเสวนาประเด็นท้าทายน่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ การปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างไร จึงตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ วิวัฒน์การแพทย์ฉุกเฉินไทยก้าวไปอินเตอร์ ทิศทางการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แผนไทยจะเป็นแผนหลักของไทยในชาตินี้ การอภิปรายเรื่อง เขตสุขภาพ:หัวใจของการปฏิรูประบบสาธารณสุข ยาสามัญ มั่นใจได้ การบรรยายเรื่องครอบครัวมีสุข ปลอดทุกข์จากความรุนแรง

ทั้งนี้ นายสุรชัย ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2555 จำนวน 7 รางวัล แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทผลงานยอดเยี่ยม 4 รางวัล ได้แก่ 1.ผลงานของนายพรสิทธิ์ ทวยนันท์ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง “การประเมินโครงการสนับสนุนการกำกับการกินยาวัณโรคต่อเนื่อง (DOT)” ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการควบคุมโรควัณโรคในกลุ่มผู้ป่วย 2.ผลงาน “การพัฒนาแบบคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อตับในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านวัณโรค” โดยเภสัชกรหญิงบุษกร หาญวงษ์ โรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 3.ผลงาน “ผลการใช้คะแนนอาปาเช 2 ในการบริหารเตียงหอผู้ป่วย ICU ทั่วไป” โดยนางยุพิน ตันอนุชิตติกุล โรงพยาบาลลำปาง และ 4.ผลงานการประดิษฐ์ “เครื่องถ่างแผลผ่าตัดมะเร็งเต้านมและผ่าตัดอื่นๆ เช่น ผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดผ่าตัดไทรอยด์” โดยนายแพทย์อธิคม ดำดี โรงพยาบาลกระบี่

ประเภทดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่ 1.ผลงาน “การใช้อัลตราซาวนด์เพื่อตรวจการรั่วของสารน้ำในผู้ป่วยเดงกี่” แพทย์หญิงกนกวรรณ ศรีรักษา โรงพยาบาลขอนแก่น และ 2.ผลงาน “การศึกษาพัฒนาตำรับอาหารในศูนย์เด็กเล็กให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น” โดยนางสุจิตรา สีหะอำไพ ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก และประเภทชมเชย 1 รางวัล ได้แก่ “ผลของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมตึกพิเศษ 60 เตียง โรงพยาบาลศรีสะเกษ” โดยนางปราณี ศรีงามช้อย โรงพยาบาลศรีสะเกษ

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ กล่าวภายหลังเสวนาเรื่อง “ปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างไร จึงตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ” ว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขถึงการปรับปรุงการทำงานของ สธ.ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดบริการในพื้นที่ ผ่านเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ซึ่งแต่ละเขตจะมีประมาณ 5-7 จังหวัด ทำงานในรูปแบบเขตพื้นที่บริหารจัดการกันเอง แต่อยู่ภายใต้การกำกับของส่วนกลาง ทั้งนี้ จะพิเศษตรงที่จะมีการแบ่งอำนาจของปลัด สธ.ให้กับเขตบริการสุขภาพ โดยมีผู้ตรวจราชการ และกรรมการบริหารของแต่ละเขตเป็นผู้มีอำนาจทำหน้าที่บริหารจัดการภายในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณ

เบื้องต้นในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณปี 2557 จะหารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กระจายงบลงมาที่เขตบริการสุขภาพโดยตรง เพื่อให้เขตทำหน้าที่บริหารทรัพยากรร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะทำให้ทราบว่าพื้นที่ไหนควรได้รับงบประมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม เพราะคนในพื้นที่จะทราบดี เนื่องจากต้องมีการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายทั้งในระดับเขตและระดับโรงพยาบาลว่างานส่วนใดมีโอกาสติดลบ และจะลดค่าใช้จ่ายอย่างไร เพื่อลดปัญหาขาดสภาพคล่องของแต่ละโรงพยาบาลด้วย ทั้งนี้ การบริหารของแต่ละเขตบริการสุขภาพจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้ทราบว่ามีการใช้งบประมาณ และการบริหารที่เกิดประสิทธิผลจริงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดจะเดินหน้าพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 1 ต.ค. 2556 เป็นต้นไป” ปลัด สธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากการปรับปรุงการทำงานผ่านเขตบริการสุขภาพ จะมีการเดินหน้าร่วมมือกับภาคเอกชนตามแนวคิดพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยมอบให้ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ.ไปศึกษาเรื่องนี้ต่อคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเรื่องอาคารผู้ป่วยใหม่เป็นอันดับแรก นพ.ณรงค์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งรีบร้อน ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น