xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ให้ รพ.ในสังกัดทุกแห่งพิมพ์ “สายด่วน 1669” บนซองยา หวังภาพติดตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง พิมพ์ข้อความ “บาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 โทร.ฟรี แต่อย่าโทร.เล่น” ลงบนซองใส่ยาและถุงใส่ยา ให้ผู้ป่วยและญาติเห็นข้อความบ่อยๆ จนติดตา จำได้และใช้โทร.ทันทีเมื่อเจ็บป่วยหรือพบเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยถึงมือหมออย่างรวดเร็ว
ข้อความบนซองยา
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สธ.เปิดสายด่วนหมายเลข 1669 ให้ประชาชนทุกพื้นที่โทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือ ซึ่งเครือข่าย 1669 มีทุกจังหวัด อำเภอ โทร.แจ้งฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถใช้กับโทรศัพท์ทุกชนิด แต่ที่ผ่านมาพบว่ายังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และไม่ทราบว่าเมื่อเกิดกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องโทร.ขอความช่วยเหลือที่หมายเลขใด แม้ว่า สธ.ได้เร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนสายด่วน 1669 ก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2555 มีประชาชนโทร.แจ้งผ่านสายด่วน 1669 จำนวน 991,281 ครั้ง จากจำนวนการออกปฏิบัติการช่วยเหลือของหน่วยแพทย์กู้ชีพทั้งหมด 1,245,858 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 80 และยังพบว่ามีการโทร.ก่อกวนสายด่วน 1669 เช่นแจ้งเหตุหลอก อาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน พลาดโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือ และได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติประชาสัมพันธ์ หมายเลขสายด่วน 1669 ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้ สธ.ได้เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์หมายเลข 1669 ให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น โดยขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง พิมพ์ข้อความ “บาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 โทร.ฟรี แต่อย่าโทร.เล่น” ลงบนซองใส่ยา และถุงใส่ยา ซึ่งต่อวันจะผู้ป่วยเข้า-ออกโรงพยาบาลทุกระดับประมาณ 500,000 คน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้อ่านและเห็นข้อความบ่อยๆ จะช่วยให้ติดตาและจำหมายเลขได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและญาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการโรคกำเริบได้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถโทรขอความช่วยเหลือให้ถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที และจะขยายความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐอื่นๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัย กองทัพ และภาคเอกชน ในการประชาสัมพันธ์ข้อความดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ สธ.ได้ตั้งเป้าหมายให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่หลังรับแจ้งเหตุจนเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียชีวิต และลดความพิการของผู้ป่วยลง ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2555 สามารถไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีร้อยละ 84.50 สำหรับผลการให้บริการ รอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2556 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 - มีนาคม 2556 หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกให้ความช่วยเหลือประชาชนรวม 601,719 ครั้ง ร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินทางด้านอายุรกรรม เช่นโรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และร้อยละ 27 เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร


กำลังโหลดความคิดเห็น