xs
xsm
sm
md
lg

สอนลูกเรียนรู้จากการเป็นผู้ชนะ/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เมื่อพูดถึงเรื่องการแข่งขันก็ย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะเป็นเรื่องปกติ
แต่ที่ไม่ปกติ เห็นจะเป็นภายหลังจากการแข่งขันต่างหาก โดยเฉพาะการแข่งขันสำหรับเด็กๆ ที่มักจบลงด้วยเสียงหัวเราะของผู้ชนะ และเสียงร้องไห้ของผู้แพ้เสมอ
และไม่ว่าจะจบลงแบบไหน คนที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กก็คือพ่อแม่ ผู้ที่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตหลังจากนั้นว่าพวกเขาตัวน้อยได้เรียนรู้อะไรในชีวิต เพราะในความเป็นจริงเด็กต้องเผชิญกับโลกการแข่งขัน ฉะนั้น การสร้างภูมิต้านทานให้ลูกได้รู้จัก “แพ้” และ “ชนะ” ให้เป็น จะเป็นเรื่องที่ดีทีเดียว
ส่วนใหญ่พ่อแม่ยุคนี้มักจะพะวงกลัวลูกแพ้ และกังวลต่อไปอีกว่ากลัวลูกแพ้ไม่เป็น ก็เลยพยายามจะหาวิธีสอนให้ลูกได้เรียนรู้จักความ “แพ้” แต่ที่จริงการเรียนรู้จักเรื่อง “ชนะ” ก็มีความจำเป็นเช่นกัน
ในที่นี้ขอพูดถึงเรื่องการสอนให้ลูกรู้จัก “ชนะ” ให้เป็น และการชนะก็สอนให้ลูกเรียนรู้ได้มากมาย
ประการที่หนึ่ง ชนะได้ก็แพ้ได้
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าการชนะในวันนี้ไม่ได้หมายว่าความจะชนะตลอดไป เพราะเมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโอกาสชนะและแพ้ได้เท่าๆ กัน ไม่ใช่เรื่องแปลก
ประการที่สอง ชนะแบบไม่ซ้ำเติมคนแพ้
การสอนให้ลูกรู้จักสปิริตของผู้ชนะเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่ควรถามลูกว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อชนะ ความรู้สึกที่มีความสุขเป็นอย่างไร และลองให้เขานึกกลับว่าถ้าลูกแพ้ล่ะจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อลูกชนะในวันนี้ก็ควรจะเข้าอกเข้าใจผู้อื่นด้วย อย่าซ้ำเติมหรือทับถมผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการแสดงออกว่าเราเก่งกว่าหรือเหนือกว่า
ประการที่สาม ชนะชื่นชมผู้แพ้
ไม่ใช่แค่ไม่ซ้ำเติม แต่สมควรให้ลูกได้แสดงความมีน้ำใจนักกีฬา ด้วยการให้ลูกไปจับมือชื่นชมผู้แพ้ว่าอีกฝ่ายก็เก่งมากเช่นกัน วันนี้ลูกอาจจะโชคดีกว่าเก่งกว่า แต่วันหน้าก็มีโอกาสได้แข่งขันร่วมกันอีก
ประการที่สี่ ชนะแบบไม่ยึดติด
ทุกคนล้วนแล้วอยากเป็นผู้ชนะทั้งสิ้น และเมื่อลิ้มรสของผู้ชนะแล้วก็จะมีความสุข อิ่มเอม เพราะมีแต่คนรอบข้างชื่นชมยินดี ซึ่งมีโอกาสที่เด็กจะติดยึดกับความรู้สึกนั้นๆ ฉะนั้น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกไม่ยึดติดหรือถือดีว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ
ประการที่ห้า ชนะได้รางวัลที่พอเหมาะ
เวลาลูกได้รับชัยชนะไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม คนเป็นพ่อแม่มักชื่นชมโสมนัสสุดๆ และมักจะจบลงด้วยของรางวัล ด้วยการถามลูกว่าอยากได้อะไร และพ่อแม่ก็มักจะตามใจ เพราะลูกเพิ่งได้รับชัยชนะ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆ ก็มักเรียกร้องรางวัลเป็นวัตถุ จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยหรือราคาด้วย เช่น ลูกอยากได้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ทั้งที่มีเครื่องเก่าอยู่แล้ว อย่างนี้พ่อแม่ต้องพูดคุยและคำนึงถึงความจำเป็นด้วย มิใช่ตามใจอย่างเดียว
ประการที่หก ชนะต้องไม่เปรียบเทียบ
กรณีครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน พ่อแม่ต้องระมัดระวังความรู้สึกของลูกอีกคนด้วย เช่น พี่คนโตแข่งขันกีฬาได้รับชัยชนะ ทุกคนต่างชื่นชม โดยไม่มีใครสนใจลูกอีกคน พ่อแม่ควรจะชื่นชมลูกคนโตและสอนให้ลูกอีกคนชื่นชมยินดีและให้กำลังใจพี่คนโตด้วย และพยายามทำให้อยู่บนความพอดีพอเหมาะ ไม่ใช่ออกนอกหน้า เจอใครก็ชื่นชมลูกให้ผู้อื่นฟัง โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของลูกอีกคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ด้วย เพราะถ้าพ่อแม่จัดการไม่ดี อาจนำไปสู่การอิจฉากันได้
ประการที่เจ็ด ชนะสร้างแรงบันดาลใจ
พ่อแม่สามารถแปรเปลี่ยนเรื่องที่ลูกชนะให้กลายเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องอื่นๆ หรือเสริมสร้างศักยภาพของลูกให้ถูกทาง เพราะเขาอาจจะค้นพบทางที่เขาถนัดและมีความสุขก็ได้ เช่น ลูกได้รับรางวัลเรื่องงานศิลปะ ก็อาจส่งเสริมต่อยอดความสามารถของเขา ให้เขาได้มีโอกาสต่อยอดในสิ่งที่เขารักและมีความสุขได้
ประการสุดท้าย ชนะนำไปสู่เป้าหมาย
สิ่งสำคัญที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังและสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องชนะคือความมุ่งมั่น ความอดทน ความพยายามอย่างสร้างสรรค์ และฝึกให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน
ทั้ง 8 ประการนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่พ่อแม่ต้องชนะใจตัวเองให้ได้ก่อนว่า การส่งลูกไปแข่งขันหรือประกวดใดๆ ก็ตาม เป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้การ “ชนะใจ” ตัวเอง ที่จะกล้าแสดงความสามารถในพื้นที่สาธารณะ
ส่วนเรื่องแพ้หรือชนะถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะชีวิตอีกก้าวหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น