xs
xsm
sm
md
lg

นักโทษไทยเจอวิกฤตเรือนจำแออัด อึ้ง! เรือนจำเชียงใหม่จุได้ 1,500 แต่ยัดกันอยู่ถึง 3,000

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อังกฤษเผยสุขภาพผู้ถูกคุมขัง 37% เครียด กดดัน อยากฆ่าตัวตาย 70% ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมแก้เครียด ด้านไทยนักโทษเจอวิกฤตเรือนจำแออัดเช่นกัน ยกเรือนจำกลางเชียงใหม่มีความจุ 1,500 คน แต่มีนักโทษมากถึง 3,000 คน นักวิชาการไทยเร่งศึกษาหาทางเสนอ สธ.
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นางมิเชลเล เบบุท นักศึกษาปริญญาเอก จากสหราชอาณาจักร กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “สุขภาพในเรือนจำและสุขภาพหลังถูกคุมขัง” ในงานประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 ว่า จากการเก็บข้อมูลทางสุขภาพของผู้ถูกคุมขังในประเทศอังกฤษและเวลล์ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด สภาพแวดล้อมที่ไม่ดีพอ ไม่มีการส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง พบว่า ร้อยละ 37 เครียดและรู้สึกกดดันในเรือนจำอย่างมาก กระทั่งอยากฆ่าตัวตาย โดยมากกว่าร้อยละ 70 ต้องการพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมแก้เครียดและผ่อนคลาย นอกจากการสำรวจยังมีการทำกิจกรรมกรีนยิม คือ ให้ผู้ต้องหาปลูกต้นไม้ จัดสวน จัดดอกไม้ และรับผิดชอบการปลูกต้นไม้ ซึ่งผู้ต้องขังที่เข้าร่วมกิจกรรมระบุว่ารู้สึกดีขึ้นและสามารถผ่อนคลายชีวิตจากความเครียดได้

ด้าน นพ.อภินันท์ อร่ามรัตย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในเวทีเดียวกันว่า ปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขังในไทย เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยกรณีเรือนจำกลาง จ.เชียงใหม่นั้น พบว่า เผชิญทั้งปัญหาความแออัดและปัญหาสุขภาพภายในเรือนจำ ซึ่งปัญหานี้เดิมอาจมีเฉพาะผู้ต้องขังชาย และปัจจุบันทั้งหญิงและชายต้องเผชิญปัญหาไม่แตกต่างกัน เช่น เรือนจำมีความจุ 1,500 ราย แต่กลับมีผู้ต้องขังมากถึง 3,000 คน การอยู่รวมกันในห้องขังแบบแออัด ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจอย่างมาก ขณะที่ข้อจำกัดทางแพทย์และพยาบาลที่เคยมีอัตราตรวจสุขภาพ 1 ต่อ 15 หรืออย่างมาก ตรวจ 20 รายต่อวัน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาทางกายก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตตามมาด้วย และนอกจากการลงโทษต้องหาแนวทางการบำบัด ฟื้นฟูเพื่อให้เมื่อผู้ถูกคุมขังกลับสู่สังคมแล้วไม่กลับไปสร้างปัญหาเดิม

นพ.อภินันท์กล่าวอีกว่า ในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมตามหลักเรือนจำอังกฤษพบว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติงบประมาณด้านสุขภาพโดยตรงแก่ผู้คุมขัง ซึ่งไทยนั้นมีการให้งบประมาณกระจายไปยังเทศบาลหรือจังหวัดก่อน จากนั้นทางราชทัณฑ์จึงมีสิทธิของบฯมาใช้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะจัดประชุมเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในห้องขัง และหลังถูกคุมขัง เพื่อหาทางออกในการเสนอกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม เนื่องจากการปล่อยผู้ต้องขังสู่สังคมเพื่อให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องสร้างเสริมสุขภาพให้ปลอดโรค และมีสุขภาพจิตที่ดีก่อน จึงจะสามารถสร้างสังคมที่ดีได้ ไม่กลับมาทำผิดซ้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น