xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จ่อเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ชี้ประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เล็งเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ชี้เป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เร่งประสาน กปน.หาแนวทางดำเนินการ เผยในอนาคตพัฒนาแนวคิดนำน้ำที่บำบัดกลับมาให้ประโยชน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะกำกับดูแลสำนักการระบายน้ำ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบำบัดน้ำเสีย จึงมีแนวคิดที่จะต้องเรียกเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากผู้ที่ใช้น้ำประปา โดยเฉลี่ยคนกรุงเทพฯ มีการใช้น้ำประปาคนละประมาณ 120-130 ลิตรต่อวัน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรรวมประมาณ 10 ล้านคน ทำให้มีน้ำเสียออกมาประมาณ 130,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งน้ำเสียที่มาจากสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมและน้ำฝนอีกประมาณ 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้ กทม.มีโรงงานบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 7 แห่ง ที่ทำหน้าที่ในการปรับปรุงน้ำเสียให้มีคุณภาพเหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทั้งนี้ กทม.มีแนวคิดที่จะนำน้ำเสียมาบำบัดแล้วน้ำกลับไปใช้หลายๆ ครั้ง จากเดิมที่เคยบำบัดแล้วปล่อยทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียว หรือนำไปรดน้ำต้นไม้เล็กๆ น้อยๆ เช่นเดียวกับเมืองพัทยา ที่ขณะนี้มีแนวคิดที่จะร่วมกับโรงแรมต่างๆ บำบัดน้ำเสียแล้วให้นำกลับไปใช้ในการอุปโภคได้อีก โดยไม่ต้อง ปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วทิ้งลงแม่น้ำลำคลองเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีการบำบัดให้สามารถนำกลับมาดื่มได้เหมือนเช่นประเทศสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่จะมีการจัดเก็บค่าบำบัดเสียนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีการคิดกันมาแล้วหลายปี แต่ยังไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เพราะติดปัญหาในเชิงวิธีการปฏิบัติ อีกทั้งเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกก็มีการจัดเก็บกันมานานแล้ว โดย กทม.จะต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะสามารถจัดเก็บได้จริง ซึ่งการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียไม่ใช่การทำกำไร แต่เป็นการให้ทุกคนที่ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ประชาชนต้องรับภาระร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของเมืองเพียงฝ่ายเดียว

แหล่งข่าวในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงงานบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่มีทั้งหมด 7 แห่ง โดยใช้วิธีการจ้างเอกชนในการบริหารทั้งหมด 5 แห่ง และ กทม.บริหารเอง 2 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ กทม.บริหารเองอีก 12 แห่ง ขณะนี้มีค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียในอัตราเฉลี่ย 1.4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งแนวคิดในการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียมีมาตั้งแต่ปี 47 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเนื่องจากการประปานครหลวง (กปน.) ในขณะนั้นปฏิเสธการจัดเก็บให้กับ กทม.เนื่องจากพระราชบัญญัติการประปานครหลวงไม่ได้ระบุให้มีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แต่สามารถเป็นผู้ออกใบเสร็จการน้ำประปาให้กับ กทม.ได้ โดยจะคิดค่าใบเสร็จ แบ่งเป็นค่าข้อมูลจากมิเตอร์ ค่าจัดพิมพ์ รวมใบละ 5.88 บาท ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีบ้านเรือนที่ใช้น้ำประปาประมาณ 300,000 หลังคาเรือน เท่ากับว่า กทม.จะต้องจ่ายค่าออกใบเสร็จเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านบาท โดยขณะนั้นก็ยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่จ่าย กทม.จึงยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้มากน้อยแค่ไหน จึงไม่ได้มีการจัดเก็บแต่อย่างใด

แหล่งข่าวในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ กทม.ได้มีแนวคิดที่จะมีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียอีกครั้ง ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้มอบหมายให้ นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาระเบียบในการจัดเก็บใหม่ รวมถึงวิธีการจัดเก็บ ว่าจะซื้อข้อมูลจาก กปน.เพียงอย่างเดียวแล้วเอามาพิมพ์ใบเสร็จเอง หรือให้ กปน.พิมพ์ให้ด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่าย และจะต้องดูจำนวนคนใช้น้ำประปาว่าขณะนี้มีอยู่กี่ราย เบื้องต้น นายวัลลภ ได้ให้แนวคิดว่าจะให้จัดเก็บพร้อมกับค่าขยะไปเลย ทั้งนี้ จะต้องมีการหารือกับ กปน.อีกครั้งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น