xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเผยไทยส่งเสริมป้องกันโรคให้ชุมชนแค่ 6.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยลงทุนสุขภาพด้านการส่งเสริมป้องกันโรคน้อย พบเพียง 6.5% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น และบางโรคขาดทักษะการป้องกัน นักวิชาการยูนิเซฟแนะสร้างเสริมสุขภาพชุมชนต้องมีส่วนร่วม ช่วยลดวามเหลื่อมล้ำ และรอการสงเคราะห์จากภาครัฐได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.รูดอล์ฟ นิพเพนเบิร์ก ที่ปรึกษากองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) กล่าวเรื่อง “เราลงทุนสุขภาพไปถึงไหน” ในการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การสร้างเสริมสุขภาพเริ่มมีแนวทางที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จากการต้องรอการสงเคราะห์จากภาครัฐได้ โดยกระบวนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ควรมีการติดตามตรวจสอบข้อกฎหมาย กติกาสังคม การกระจายงบประมาณและทรัพยากร รวมทั้งค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อร่วมกันปรับเปลี่ยนหรือนำมาสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสุขภาพในทิศทางที่ยั่งยืน

“สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ การจัดระบบการเข้าถึงบริการทางสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริม และรักษา โดยพบว่า ประเทศแคนาดา มีการลงทุนส่งเสริมสุขภาพต่อเนื่อง แม้ว่าจะลงทุนมากแต่ทำให้ลดปัญหาสุขภาพระยะยาวได้ เมื่อเทียบกับประเทศแอฟริกา ที่ลงทุนด้านสร้างเสริมสุขภาพน้อยก็จะใช้เงินเพื่อการรักษาคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10 ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” นพ.รูดอล์ฟ กล่าว

ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยยังลงทุนในด้านการสร้างเสริมสุขภาพในสัดส่วนที่ต่ำมาก โดยไทยมีการลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพียงร้อยละ 6.5 ของงบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมดเท่านั้น และบางโรคยังขาดทักษะการป้องกันสุขภาพและส่งเสริมสุขภาพ เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง พบว่า หากผู้ป่วยมีรายได้ 100 บาทจะต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาสุขภาพประมาณ 8 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของรายได้ ขณะที่สถานพยาบาลต้องลงทุนในการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจำนวนมหาศาล เพราะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลานานในการรักษา เมื่อเทียบกับการรณรงค์และสร้างโปรแกรมเพื่อให้เกิดการลด ละ เลิกถือเป็นแนวทางที่ลงทุนน้อยกว่า และสามารถลดการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้อีกจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น